แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยกับพวกร่วมกันเป็นคนร้ายปล้นทรัพย์ผู้เสียหายมีความผิดฐาน ปล้นทรัพย์ซึ่ง เป็นบทเฉพาะแล้ว จำเลยไม่มีความผิดฐาน ทำร้ายร่างกายอีก.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83,295, 340,340 ตรี ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14, 15 ให้ริบรถจักรยานยนต์และมีดของกลาง กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 38,500 บาท แก่เจ้าของด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี จำคุก 20 ปี คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 15 ปีริบรถจักรยานยนต์และมีดของกลางกับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์38,500 บาทแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยร่วมปล้นทรัพย์และร่วมทำร้ายร่างกายผู้เสียหายแต่มิได้ปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 83 ดังที่โจทก์ฟ้องด้วยนั้นศาลอุทธรณ์เห็นสมควรปรับบทเสียให้ถูกต้อง พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา340 ตรี, 295, 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 340 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี ซึ่งเป็นบทหนักเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้เสียหายกับจำเลยไม่มีสาเหตุกัน ไม่มีเหตุให้ระแวงว่าผู้เสียหายจะแกล้งเบิกความเพื่อให้จำเลยต้องรับโทษคำเบิกความของผู้เสียหายจึงมีน้ำหนัก ที่จำเลยนำสืบว่าคนร้ายใช้มือล๊อกคอเพื่อจะเอารถจักรยานยนต์ของจำเลยแต่จำเลยแย่งกุญแจรถได้ก่อนนั้น ไม่น่าเชื่อเพราะได้ความจากผู้เสียหายว่า คนร้ายคนที่ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของจำเลยมีมีดดังนั้นหากคนร้ายประสงค์จะเอารถของจำเลยด้วยก็คงจะใช้มีดขู่หรือทำร้ายจำเลยแล้วเพราะเป็นการสะดวกกว่า เมื่อคนร้ายได้ไปเฉพาะรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายก็ย่อมเป็นเหตุผลประกอบให้น่าเชื่อว่าจำเลยหลอกผู้เสียหายไปเพื่อร่วมกับพวกปล้นรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายดังที่โจทก์นำสืบ ที่จำเลยนำสืบว่าภายหลังเกิดเหตุจำเลยได้นำความไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจตำบลนาโยงว่าถูกปล้นทรัพย์นั้นพิเคราะห์แล้วคดีได้ความจากนายละมุล บุญสนอง พยานโจทก์ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านที่คนร้ายพักอาศัยว่า จำเลยรู้จักกับพวกคนร้ายมาก่อนแต่ในการแจ้งความดังกล่าวจำเลยหาได้ระบุชื่อคนร้ายต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ ฉะนั้นการแจ้งความของจำเลยจึงเพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล้นทรัพย์รายนี้อันเป็นการกลบเกลื่อนความผิดที่เกิดขึ้นเท่านั้น เมื่อการแจ้งความดังกล่าวมีพิรุธดังที่กล่าวแล้ว การแจ้งความของจำเลยจึงประกอบคำเบิกความของผู้เสียหายให้มีน้ำหนักยิ่งขึ้น ที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยถูกดำเนินคดีเพราะไม่ยอมใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหายครึ่งหนึ่งตามที่ผู้เสียหายเรียกร้องนั้นไม่น่าเชื่อ เพราะหากเป็นเช่นนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอย่านตาขาวคงไม่แจ้งทางวิทยุไปอายัดตัวจำเลยต่อเจ้าหน้าที่สถานีตำรวจภูธรตำบลนาโยงก่อนที่จะนำตัวจำเลยไปให้ผู้เสียหายดูที่โรงพยาบาลจังหวัดตรังดังที่ได้ความจากคำเบิกความของจำเลย พยานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยร่วมกับพวกเป็นคนร้ายปล้นทรัพย์ผู้เสียหายดังที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยฐานปล้นทรัพย์มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยร่วมทำร้ายผู้เสียหายอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 ด้วยนั้นยังไม่ถูกต้องเพราะเมื่อจำเลยมีความผิดฐานปล้นทรัพย์ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายอีก”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตราา 295 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.