คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1944/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการโอนทรัพย์สินของลูกหนี้ตาม พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483มาตรา 114 มิใช่กรณีเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 113 ไม่มีบทบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของลูกหนี้แก่ผู้คัดค้าน ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำในระหว่างระยะเวลา 3 ปีก่อนมีการขอให้ล้มละลาย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านรับโอนที่ดินโฉนดดังกล่าวโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน คดีขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…มีปัญหาตามฎีกาของผู้คัดค้านต่อไปว่า คดีผู้ร้องขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่ากรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้เพิกถอนการโอนทรัพย์พิพาทคดีนี้ เป็นการขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการโอนทรัพย์สินของลูกหนี้ (จำเลยที่ 2) ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลา 3 ปีก่อนมีการขอให้ล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 114 มิใช่ขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 113 การขอให้ศาลเพิกถอนการโอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 114 ไม่มีบทบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 คดีผู้ร้องไม่ขาดอายุความ’
พิพากษายืน.

Share