แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยหาผู้เสียหายไปขายให้แก่ จ. ซึ่งเป็นเจ้าของสถานการค้าประเวณีเพื่อให้ผู้เสียหายค้าประเวณี ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดให้เกิดผลเป็นกรรมในความผิดฐานเพื่อให้สำเร็จความใคร่ของผู้อื่นเป็นธุระจัดหา ล่อไปหรือชักพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี โดยใช้อุบายหลอกลวงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคสาม ฐานหนึ่งแล้ว และขณะเดียวกันการที่จำเลยพรากผู้เสียหายไปเสียจากมารดาของผู้เสียหาย จำเลยก็มีเจตนากระทำความผิดให้เกิดผลเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีไปเสียจากอำนาจ ปกครองของมารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควร เพื่อการอนาจารตามมาตรา 317 วรรคสามอีกฐานหนึ่งต่างหากจากความผิดตามมาตรา 283 วรรคสาม มิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวกัน
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 กับพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 มาตรา 8 จำเลยกระทำเพียงครั้งเดียวและเกิดผลเดียวกัน จึงเป็นความผิดกรรมเดียว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓,๙๑,๒๘๓,๒๘๖,๓๐๙,๓๑๐,๓๑๗,๓๙๑ พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.๒๕๐๓ มาตรา ๘
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐, ๒๘๓, ๓๑๗ พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.๒๕๐๓ มาตรา ๘ ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๓ ซึ่งเป็นบทหนัก วางโทษจำคุก ๒๐ ปี ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์ จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๒ วรรคสอง พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.๒๕๐๓ มาตรา ๕ ซึ่งเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๒ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๐ จำคุก ๘ ปี ยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๗ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่าความผิดของจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๓,๓๑๗ และพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.๒๕๐๓ มาตรา ๘ เป็นกรรมเดียวกันหรือไม่ เห็นว่าการที่จำเลยพาผู้เสียหายไปขายให้แก่นายจริงหรือจิงซึ่งเป็นเจ้าของสถานการค้าประเวณีเพื่อให้ผู้เสียหายค้าประเวณี ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดให้เกิดผลเป็นกรรมในความผิดฐานเพื่อให้สำเร็จความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหาล่อไปหรือชักพาไปเพื่อการอนาจาร ซึ่งเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี โดยใช้อุบายหลอกลวงตามมาตรา ๒๘๓ วรรค ๓ ฐานหนึ่งแล้ว และขณะเดียวกันการที่จำเลยพรากผู้เสียหายไปเสียจากมารดาของผู้เสียหาย จำเลยก็มีเจตนากระทำความผิดให้เกิดผลเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีไปเสียจากอำนาจปกครอง ของมารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารตาม มาตรา ๓๑๗ วรรคสาม อีกฐานหนึ่งต่างหากจากความผิดตาม มาตรา ๒๘๓ วรรค ๓ การกระทำของจำเลยดังกล่าวหาใช่เป็นกรรมเดียวกันดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ ทั้งนี้ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๙๘/๒๕๒๐ ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดระยอง โจทก์ นายรุ่ง ธรรมยิ่งจำเลย สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๓ กับพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.๒๕๐๓ มาตรา ๘ นั้น จำเลยกระทำเพียงครั้งเดียวและเกิดผลเดียวกัน จึงเป็นความผิดกรรมเดียว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๓ วรรคสาม, ๓๑๗ วรรคสาม ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๒๕ มาตรา ๔,๘ อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะที่จำเลยกระทำผิด และพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.๒๕๐๓ มาตรา ๘ ลงโทษจำเลยเป็นสองกระทงความผิด โดยลงโทษตามมาตรา ๒๘๓ วรรคสาม ซึ่งเป็นบทหนักของโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๓ และพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี มาตรา ๘ วางโทษจำคุก ๑๕ ปี และลงโทษตามมาตรา ๓๑๗ วรรคสาม วางโทษจำคุก ๕ ปี รวมเป็นโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด ๒๐ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์