คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3974/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ให้อำนาจศาลแรงงานพิพากษาให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือชดใช้ค่าเสียหายตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น จะพิพากษาให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายในระหว่างถูกเลิกจ้างจนรับกลับเข้าทำงานไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม โจทก์ได้บรรยายฟ้องมาโดยชัดแจ้งว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในระหว่างถูกเลิกจ้างจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์ตั้งประเด็นข้อพิพาทมาโดยตรงว่าจำเลยเป็นนายจ้างได้ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างเลิกจ้างโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน จึงเป็นการขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาจ้างแรงงาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 ซึ่งบัญญัติให้นายจ้างมีหน้าที่จ่ายสินจ้างให้แก่ลูกจ้างตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้ เมื่อปรากฏว่า โจทก์สามารถทำงานให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างตลอดมาแต่จำเลยกระทำผิดสัญญาโดยเลิกจ้างโจทก์อย่างไม่เป็นธรรม เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่ไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้าง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากจำเลย แม้โจทก์ไม่ได้ทำงานให้จำเลยก็ตาม
แม้คำฟ้องโจทก์ได้กล่าวอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพื่อต้องการทำลายและกำจัดกรรมการลูกจ้างและคณะกรรมการสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ รวมทั้งโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานด้วยคนหนึ่ง อีกทั้งได้เลิกจ้างโจทก์ในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 (2) และมาตรา 123 วรรคหนึ่ง เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องไว้ด้วยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้ประสบภาวะการขาดทุน ทั้งจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้มีหลักเกณฑ์และไม่ได้มีการประเมินผลตัวโจทก์ อันเป็นการกล่าวหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ด้วย ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โจทก์ต้องยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการอย่างใดก่อนที่จะดำเนินการฟ้องร้อง ดังนั้น โจทก์ย่อมฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางได้โดยไม่ต้องยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม โดยให้โจทก์ได้รับสิทธิและผลประโยชน์ตามเดิมทุกประการ ให้จำเลยชำระค่าจ้างตั้งแต่วันเลิกจ้างถึงวันฟ้องจำนวน 415,333 บาท ค่าจ้างในอัตราเดือนละ 35,000 บาท และให้จำเลยส่งเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพนับจากวันที่ 31 ธันวาคม 2540 ถึงวันฟ้องจำนวน 29,400 บาท และในอัตราเดือนละ 2,450 บาท นับจากวันฟ้อง พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จหรือรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับขณะเลิกจ้าง รวมทั้งให้ได้รับสิทธิและผลประโยชน์ต่างๆ เท่าเดิม โดยต้องเป็นไปตามกฎระเบียบนั้น ๆ คำขออื่นตามฟ้องนอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 บัญญัติว่า “การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทนโดยให้ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้าง และเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประกอบการพิจารณา” บทบัญญัติดังกล่าวให้ศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาพิพากษาให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือชดใช้ค่าเสียหายตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น จะพิพากษาให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายในระหว่างถูกเลิกจ้างจนรับกลับเข้าทำงานไม่ได้ เพราะมาตรา 49 มิได้ให้อำนาจไว้ แต่คดีนี้โจทก์ได้บรรยายฟ้องมาโดยชัดแจ้งว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในระหว่างถูกเลิกจ้างจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์ตั้งประเด็นข้อพิพาทมาโดยตรงว่าจำเลยเป็นนายจ้างได้ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานกลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่ไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานเป็นการขอให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะจ้างแรงงาน ซึ่งตามกฎหมายโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในกรณีดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลยได้ แม้โจทก์จะเรียกร้องมาเป็นค่าจ้าง ศาลก็มีอำนาจพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายได้ เมื่อพิเคราะห์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 บัญญัติให้นายจ้างมีหน้าที่จ่ายสินจ้างให้แก่ลูกจ้างตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้ โจทก์ในคดีนี้สามารถทำงานให้นายจ้างตลอดมาแต่จำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยได้เลิกจ้างโจทก์อย่างไม่เป็นธรรม เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่ไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้าง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากจำเลย แม้โจทก์ไม่ได้ทำงานให้จำเลยก็ตาม ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าขณะที่โจทก์ถูกเลิกจ้าง โจทก์มิได้ทำงานให้แก่จำเลย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น แต่การกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริง เห็นสมควรให้ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจกำหนดจำนวนค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์ตามที่เห็นสมควร
แม้คำฟ้องโจทก์จะบรรยายฟ้องไว้ตอนหนึ่งว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพื่อต้องการทำลายและกำจัดกรรมการลูกจ้างและคณะกรรมการสหภาพแรงงาน รวมทั้งโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานด้วย อีกทั้งจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งโจทก์เกี่ยวข้องมีผลใช้บังคับซึ่งเป็นการกล่าวอ้างว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 (2) และมาตรา 123 วรรคหนึ่ง แต่โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องไว้ด้วยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้ประสบภาวะการขาดทุน จำเลยยังคงมีกำไรและไม่มีหนี้สินใด ทั้งจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้มีหลักเกณฑ์และไม่ได้มีการประเมินผลตัวโจทก์ หลังจากเลิกจ้างโจทก์แล้วจำเลยยังรับคนอื่นเข้ามาทำงานแทนโจทก์ เป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่มีเหตุผลเพียงพอ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานกับจำเลยตามเดิม และรับผิดจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ อันเป็นการกล่าวหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยเหตุที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ด้วย ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญติให้โจทก์ต้องยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการอย่างใดก่อนที่จะดำเนินการฟ้องร้องในศาลแรงงาน ดังนั้น โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยในกรณีเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าวต่อศาลแรงงานกลางได้โดยไม่ต้องยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนตามมาตรา 124 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ก่อน กรณีไม่เป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 วรรคท้าย ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจกำหนดจำนวนค่าเสียหายระหว่างที่โจทก์ถูกเลิกจ้างจนถึงวันที่จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานแล้วพิพากษาใหม่เฉพาะประเด็นนี้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share