คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1942/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ. 2499 มาตรา 4 ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับในศาลแขวง แต่ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้บังคับ ให้คงใช้กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาดังนั้น อัยการสูงสุดจึงมีอำนาจรับรองให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ได้ โจทก์เป็นผู้จะซื้อหุ้นที่บริษัท ส. จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดโดยมีข้อตกลงเรื่องผิดสัญญากันไว้ว่าจะปฏิบัติต่อกันอย่างไรแล้ว ซึ่งแยกเป็นกรณีที่จำเลยผิดสัญญาและกรณีที่โจทก์ผิดสัญญา เมื่อจำเลยถูกหาว่ากระทำผิดสัญญาจะซื้อจะขายตามที่ได้ตกลงกันไว้ จำเลยในฐานะผู้จะขายก็ชอบที่จะถูกโจทก์ในฐานะผู้จะซื้อฟ้องบังคับกันตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าว เพื่อรับค่าเสียหายตามข้อตกลงเท่านั้น คดีของโจทก์จึงไม่มีมูลความผิดฐานฉ้อโกงที่ศาลจะประทับฟ้องไว้พิจารณา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341และ 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยแก้ฎีกาอ้างว่า อัยการสูงสุดไม่มีอำนาจรับรองให้โจทก์ฎีกา เพราะจะนำมาตรา 221 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้ในคดีของศาลแขวงไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับในศาลแขวง แต่ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้บังคับ ให้คงใช้กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา ดังนี้การรับรองฎีกาของโจทก์ชอบแล้ว
ที่โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องเป็นการหลอกลวงโจทก์และครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งว่าคดีมีมูล ประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไปนั้นศาลฎีกาเห็นว่า ความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยบัญญัติว่าผู้ใดโดยทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามหรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ที่โจทก์บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดว่า จำเลยมีเจตนาทุจริตหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งนั้น แต่ความปรากฏวา โจทก์เป็นผู้จะซื้อหุ้นที่บริษัทสยามรัฐ จำกัด จดทะเบียนเป็นบริษัท จำกัด เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2494 ทะเบียนบริษัทเลขที่ 2958/2494มีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 1,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาทโดยมีข้อตกลงเรื่องผิดสัญญากันไว้ว่าจะปฏิบัติต่อกันอย่างไรตามข้อ 11 แล้วซึ่งข้อ 11.1 เป็นกรณีที่จำเลยผิดสัญญา ข้อ 11.2 เป็นกรณีที่โจทก์ผิดสัญญา ดังนั้น เมื่อจำเลยถูกหาว่ากระทำผิดสัญญาจะซื้อจะขายตามเอกสารหมาย จ.3 ตามที่ได้ตกลงกันไว้ จำเลยในฐานะผู้จะขายก็ชอบที่จะถูกโจทก์ในฐานะผู้จะซื้อฟ้องบังคับกันตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าว เพื่อรับค่าเสียหายเป็นเงิน100,000,000 บาท ตามข้อตกลงเท่านั้น คดีของโจทก์ไม่มีมูลให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณา
พิพากษายืน

Share