แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 4 เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการเดินรถโดยสารประจำทาง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นพนักงานเก็บเงินค่าโดยสาร จำเลยที่ 3 เป็นผู้ควบคุมรถได้ความว่าพนักงานขับรถซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 4 ขับรถเลี้ยวด้วยความเร็ว ทำให้โจทก์และผู้โดยสารอื่นตกจากม้านั่ง การที่โจทก์ต่อว่าพนักงานขับรถเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่พอใจ และร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์จนได้รับอันตรายแก่กายนั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 4 ผู้เป็นนายจ้าง และมิใช่กิจการในหน้าที่ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้รับมอบหมาย การกระทำดังกล่าวอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จึงมิใช่เป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 4 เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการเดินรถขนส่งต่าง ๆ เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถประจำทางสาย 40 หมายเลขทะเบียน กท.จ – 3646 และเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นพนักงานเก็บเงินค่าโดยสาร จำเลยที่ 3 เป็นผู้ควบคุมรถเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2517 เวลาประมาณ 21.15 นาฬิกา โจทก์ได้โดยสารรถยนต์ประจำทางคันดังกล่าวของจำเลยที่ 4 จากถนนสุขุมวิทจะไปลงที่หน้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พอมาถึงวงเวียนปทุมวันคนขับได้เลี้ยวซ้ายในขณะที่รถแล่นด้วยความเร็วสูง เป็นเหตุให้โจทก์และผู้โดยสารอื่นพลัดตกจากที่นั่งโจทก์จึงต่อว่าคนขับว่าการขับรถเช่นนั้นจะทำให้คนโดยสารได้รับอันตรายซึ่งยังความไม่พอใจให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ครั้นโจทก์จะลงจากรถที่หน้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำเลยทั้งสามได้เดินตรงเข้ามาหาโจทก์แล้วร่วมกันทำร้ายโจทก์โดยจำเลยที่ 1 ใช้กระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารตีศีรษะจำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันชกต่อย โจทก์ได้รับบาดเจ็บคือ ศีรษะข้างซ้ายแตก หางตาขวา และใบหูซ้ายมีบาดแผล ขัดยอกตามลำตัว รักษาเป็นเวลา 25 วัน เสียเงินค่ารักษารวมทั้งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นเงิน 5,000 บาท โจทก์มีอาชีพเป็นครูขาดรายได้ในการจ้างสอนพิเศษ คิดเป็นเงิน 2,000 บาท จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้ทำละเมิด จำเลยที่ 4 เจ้าของผู้ครอบครองรถประจำทาง นายจ้างของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องร่วมรับผิดซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้าง จึงขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหาย 7,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 7,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะใช้เงินเสร็จ
จำเลยที่ 4 ให้การว่าไม่ได้เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถคันหมายเลขทะเบียน กท.จ – 3646 ทั้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ก็ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 4 การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์นั้น ไม่ได้กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4 เพราะจำเลยที่ 4 มีวัตถุประสงค์เพียงแต่เดินรถรับส่งผู้โดยสารเท่านั้น โจทก์เสียหายไม่เกิน 1,000 บาท และโจทก์เสียหายเนื่องจากเหตุที่เกิดนอกทางการที่จ้าง จำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เนื่องจากหาที่อยู่ไม่พบศาลชั้นต้นอนุญาต
วันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 4 แถลงรับว่าตามทะเบียนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน กท.จ – 3646 (รถประจำทาง) มีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของโดยเป็นรถมาวิ่งร่วมซึ่งจำเลยที่ 4 ได้ผลประโยชน์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เก็บเงินโดยสาร ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นผู้ควบคุมรถคันนี้และเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 4 จริง แต่ต่อสู้ว่าจำเลยทั้งสามดังกล่าวทำร้ายโจทก์ไม่อยู่ในทางการที่จ้างสำหรับค่าเสียหายคู่ความตกลงกันจำนวน 2,000 บาท ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ถูกทำร้ายเนื่องจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4 พิพากษาให้จำเลยที่ 4 ชำระค่าเสียหาย 2,000 บาท
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทำนอกทางการที่จ้างจำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิด
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ไม่ได้กระทำละเมิดโจทก์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ถูกทำร้ายเนื่องจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 ต้องรับผิด
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าจำเลยที่ 4 เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการเดินรถขนส่ง เป็นเจ้าของรถโดยสารประจำทางคันหมายเลขทะเบียน กท.จ – 3646 แล่นรับส่งคนโดยสารระหว่างสถานีขนส่งสายใต้กับสถานีขนส่งสายตะวันออก จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นพนักงานเก็บเงินค่าโดยสาร จำเลยที่ 3 เป็นผู้ควบคุมรถ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 4 โจทก์โดยสารรถประจำทางดังกล่าวจากถนนสุขุมวิทจะไปลงที่หน้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พอถึงวงเวียนปทุมวันพนักงานขับรถซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 4 ขับรถเลี้ยวซ้ายด้วยความเร็ว เป็นเหตุให้โจทก์และผู้โดยสารอื่นเซตกจากม้านั่ง โจทก์ต่อว่าคนขับ ครั้นถึงหน้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโจทก์จะลงจากรถ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 เดินมาหาโจทก์แล้วร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์บนรถโดยสาร จนได้รับอันตรายแก่กาย ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 4 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการเดินรถประจำทางแล่นรับส่งผู้โดยสารโดยมีจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่เก็บเงินค่าโดยสาร จำเลยที่ 3 เป็นผู้ควบคุมรถ ทั้งนี้ เพื่อให้กิจการของจำเลยที่ 4 ดำเนินไปได้ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว เพื่อให้เกิดผลประโยชน์แก่จำเลยที่ 4 เอง การที่โจทก์ต่อว่าพนักงานขับรถจนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่พอใจ และร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์นั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างหากนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 4 ผู้เป็นนายจ้างและมิใช่กิจการในหน้าที่ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้รับมอบหมาย การกระทำดังกล่าวอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จึงหาใช่เป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4 ไม่ จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน