คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 770/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัปบุรุษของมัสยิดเป็นผู้ที่มีสิทธิและหน้าที่ที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ของมัสยิดที่ตนสังกัดอยู่ จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียชอบที่จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่มัสยิด ดังนั้นการที่จำเลยซึ่งเป็นสัปบุรุษของมัสยิดแสดงความคิดเห็นหรือร้องเรียนให้ข่าวต่อหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(1)
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 ถ้าผู้แสดงความคิดเห็นกระทำไปโดยสุจริต แม้จะเป็นการเข้าใจผิด แต่ก็เชื่อว่าความจริงเป็นดังที่ตนเข้าใจแล้ว ก็ได้รับความคุ้มครองตามมาตรานี้จำเลยหาจำต้องนำสืบว่าการกระทำของตนเข้าข้อยกเว้นไม่ต้องรับโทษ เพราะในการพิจารณาคดีอาญา โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้ฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องจึงจะลงโทษจำเลยได้ ฉะนั้นข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยกระทำไปโดยสุจริตหรือไม่ ศาลย่อมวินิจฉัยได้จากพยานหลักฐานและพฤติการณ์แห่งคดีที่โจทก์นำสืบ เมื่อข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำโดยไม่สุจริตแล้ว ศาลก็ยกฟ้องโจทก์ได้โดยไม่จำต้องสืบพยานจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ดำรงตำแหน่งอิหม่ามและเป็นประธานกรรมการมัสยิดอาลียิดดารอยน์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นกรรมการมัสยิดดังกล่าว เมื่อระหว่างวันที่ 7 ถึงวันที่ 8 ธันวาคม 2525 จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันใส่ความโจทก์ต่อนายศิโรจน์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เสียงปวงชน โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ทั้งห้าเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง กล่าวคือ จำเลยร่วมกันใส่ความโจทก์ที่ 1 ว่า “อิหม่ามบุญญา ศรีสมาน อิหม่ามประจำมัสยิดอาลียิดดารอยน์ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลภูเขาทอง อำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ใช้อำนาจโดยเผด็จการซื้อเอาที่ดินของมัสยิดมาเป็นของตนเอง” และใส่ความโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5ว่า “ครั้นต่อมาอิหม่ามบุญญากับคณะกรรมการมัสยิดอีก 4 คนคือ นายวาฮับ จรรยานายการีม รอดเปรม นายประมินทร์ มาทอง นายอุดม เย็นภูเขา ได้นำเจ้าหน้าที่มาสอบเขตที่ดิน แต่อิหม่ามบุญญาก็ไม่ได้ประกาศหรือประชุมให้สัปบุรุษทราบทำการไปโดยพลการ เมื่อทำการรังวัดเสร็จแล้วปรากฏว่าที่ดินเดิม 3 ไร่ 16 วา กลับวัดได้แค่ 2 ไร่ 14 วา หายไปราวครึ่งไร่หรือ 202 วา ในเรื่องนี้แม้ตนจะคัดค้านไม่ให้เซ็นชื่อให้เจ้าหน้าที่รังวัด เพราะรังวัดขาดหายไป แต่อิหม่ามบุญญาก็ยอมเซ็นชื่อไป” ซึ่งไม่เป็นความจริง และหนังสือพิมพ์เสียงปวงชนได้ลงข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 83, 90

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีของโจทก์มีมูล ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์

ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 3 ตาย ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ทั้งห้าฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาข้อแรกว่า คณะกรรมการโจทก์ได้ปฏิบัติไปตามพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 จำเลยไม่มีส่วนได้เสียกับการกระทำของโจทก์ จึงอ้างเหตุป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(1) ไม่ได้ เห็นว่าพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลามพ.ศ. 2490 มาตรา 10 บัญญัติว่า “มัสยิดใดมีสัปบุรุษน้อยหรือมีพฤติการณ์อย่างอื่นอันไม่สามารถจะดำรงอยู่ได้หรือเลิกร้างไป ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเป็นผู้รายงานไปยังคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเพื่อขอคำสั่งให้เลิกมัสยิดนั้น ฯลฯ” และระเบียบการแต่งตั้งถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด (สุเหร่า) และวิธีดำเนินการอันเกี่ยวแก่ศาสนกิจของมัสยิด (สุเหร่า) พ.ศ. 2492หมวด 4 ข้อ 25 ระบุว่า “สัปบุรุษที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนสัปบุรุษของมัสยิดใด มีสิทธิคัดเลือกหรือได้รับคัดเลือกให้เป็นกรรมการอิสลามประจำมัสยิดนั้น” ดังนี้แสดงให้เห็นว่าสัปบุรุษของมัสยิดเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้มัสยิดดำรงอยู่ได้หรือไม่ ถ้าหากมัสยิดใดมีสัปบุรุษน้อย อาจเป็นเหตุให้เลิกมัสยิดนั้นเสียก็ได้ และผู้ที่จะเป็นกรรมการอิสลามประจำมัสยิดก็ต้องคัดเลือกมาจากสัปบุรุษของมัสยิดนั้นโดยสัปบุรุษของมัสยิดเป็นผู้คัดเลือก สัปบุรุษจึงเป็นผู้มีทั้งสิทธิและหน้าที่ที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ของมัสยิดที่ตนสังกัดอยู่ ฉะนั้นเมื่อโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นกรรมการของมัสยิดดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินของมัสยิดโดยนำเอาที่ดินที่ตั้งมัสยิดไปทำสัญญาซื้อขายและรังวัดเขตที่ดินขาดหายไป 202 ตารางวา โดยมิได้ประชุมชี้แจงให้สัปบุรุษของมัสยิดทราบถึงเหตุผลของการดำเนินการดังกล่าว พฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สุจริต ย่อมทำให้จำเลยเข้าใจได้ว่า การกระทำของโจทก์ทั้งห้าอาจเกิดความเสียหายแก่มัสยิดได้ จำเลยที 1ที่ 2 ซึ่งเป็นสัปบุรุษของมัสยิดจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ชอบที่จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 แสดงความคิดเห็นหรือร้องเรียนให้ข่าวต่อหนังสือพิมพ์เสียงปวงชนดังคำฟ้อง ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนผู้เป็นสัปบุรุษของมัสยิด ย่อมได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(1)จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

โจทก์ฎีกาข้อต่อมาว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(1) เป็นการกระทำที่เป็นความผิดซึ่งได้รับยกเว้นโทษ จำเลยต้องนำสืบให้ได้ความว่าการกระทำของตนเข้าข้อยกเว้นจึงไม่ต้องรับโทษ เมื่อคดีนี้ยังไม่มีการสืบพยานจำเลยศาลจะทราบได้อย่างไรว่าการกระทำของจำเลยเข้าข้อยกเว้นของกฎหมาย เห็นว่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 ถ้าผู้แสดงความคิดเห็นกระทำไปโดยสุจริตกล่าวคือกระทำไปโดยเชื่อว่าเป็นความจริง แม้จะเป็นการเข้าใจผิด แต่ก็เชื่อว่าความจริงเป็นดังที่ตนเข้าใจแล้ว ก็ได้รับความคุ้มครองตามมาตรานี้ จึงไม่มีความผิดกรณีหาใช่จำเลยจะต้องนำสืบว่าการกระทำของตนเข้าข้อยกเว้น จึงไม่ต้องรับโทษไม่เพราะในการพิจารณาคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้ฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องจริง จึงจะลงโทษจำเลยได้ ฉะนั้นข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยกระทำไปโดยสุจริตหรือไม่ ศาลย่อมวินิจฉัยได้จากพยานหลักฐานและพฤติการณ์แห่งคดีที่โจทก์นำสืบเมื่อข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำไปโดยไม่สุจริตแล้ว ศาลก็ยกฟ้องโจทก์ได้โดยไม่จำตอ้งสืบพยานจำเลยแต่อย่างใด โดยเฉพาะคดีนี้ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำไปโดยสุจริต ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(1) จึงไม่จำต้องสืบพยานจำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองสั่งงดสืบพยานจำเลยจึงชอบแล้ว

โจทก์ฎีกาข้อสุดท้ายว่า ศาลล่างทั้งสองงดสืบพยานโจทก์ ไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสอง บัญญัติว่า “เมื่อศาลเห็นว่าพยานหลักฐานใดฟุ่มเฟือย เกินสมควร หรือประวิงให้ชักช้าหรือไม่เกี่ยวแก่ประเด็น ให้ศาลมีอำนาจงดการสืบพยานเช่นว่านั้น หรือพยานหลักฐานอื่นต่อไป” แสดงว่าในการพิจารณาคดี ศาลมีอำนาจพิจารณาว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีแล้วหรือไม่ หากเห็นว่าพยานหลักฐานที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะนำสืบต่อไปมิได้ทำให้ข้อเท็จจริงกระจ่างหรือมีน้ำหนักดีขึ้นกลับจะเป็นการถ่วงเวลาให้ชักช้าโดยใช่เหตุ ศาลย่อมมีอำนาจสั่งงดสืบพยานนั้นเสียได้โดยเฉพาะคดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากโจทก์ทั้งห้าเข้าเบิกความต่อศาลแล้วโจทก์แถลงขอสืบพยานอีก 6 ปาก ศาลได้สอบถามทนายโจทก์ถึงความประสงค์ว่าจะสืบพยานที่เหลือคนไหนในข้อใดทุกคนแล้ว เห็นว่าแม้จะให้โจทก์นำพยานทั้งหกคนเข้าสืบก็ไม่ทำให้ข้อเท็จจริงที่ได้ความตามคำเบิกความของตัวโจทก์ทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไป โดยข้อเท็จจริงที่ได้ความมาคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงสั่งงดสืบพยานโจทก์ที่เหลือเสียการที่ศาลล่างทั้งสองสั่งงดสืบพยานโจทก์ที่เหลือดังกล่าว จึงชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้ว

พิพากษายืน

Share