แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้การโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินและสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินพิพาทระบุว่าเป็นการขายก็ตาม แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 เบิกความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 รวบรวมเงินไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจาก ม. จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงโอนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ในวันเดียวกัน การโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงมิใช่เป็นการซื้อขายเพราะมิได้มีการชำระราคากันจริง แต่ถือเป็นการให้โดยเสน่หา ส่วนการที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 หาเงินมาไถ่ถอนที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการกระทำเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ผู้เป็นมารดาของจำเลยที่ 4 จะถือเอาการที่ต้องไถ่ถอนจำนองเองเป็นค่าตอบแทนการโอนหาได้ไม่ เมื่อเป็นการโอนให้โดยเสน่หา แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้รู้ฝ่ายเดียว โจทก์ก็ชอบที่จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนทรัพย์ดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 2098 ตำบลป่าสะแก อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ระหว่างจำเลยทั้งสี่ ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินฉบับลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2550 ให้จำเลยทั้งสี่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวคืนแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสี่ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2098 ตำบลป่าสะแก อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ครึ่งหนึ่ง ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 4,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ว่านิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นการโอนโดยมีค่าตอบแทนหรือไม่ เห็นว่า แม้การโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2550 ตามหนังสือสัญญาขายที่ดิน และสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินพิพาท ระบุว่าเป็นการขายก็ตาม แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 เบิกความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 รวบรวมเงินไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากนางมุ่ยเกียง จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงโอนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ในวันเดียวกัน การโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงมิใช่เป็นการซื้อขายเพราะมิได้มีการชำระราคากันจริง แต่ถือเป็นการให้โดยเสน่หา ส่วนการที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 หาเงินมาไถ่ถอนที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการกระทำเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ผู้เป็นมารดาของจำเลยที่ 4 โดยจะถือเอาการที่ต้องไถ่จำนองเองเป็นค่าตอบแทนการโอนหาได้ไม่ เมื่อกรณีเป็นการโอนให้โดยเสน่หา แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้รู้ฝ่ายเดียว โจทก์ก็ชอบที่จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนทรัพย์ดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง จำเลยทั้งสี่ยื่นฎีกามาในคำฟ้องฎีกาฉบับเดียวกัน และเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีการ่วมกัน แม้ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 เพราะเป็นฎีกาที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 แต่ศาลฎีกาได้รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 แล้ว จึงไม่มีค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่ต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 2
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ