แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เดิมจำเลยที่ 1 และที่ 2 เคยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนการบังคับคดีโดยอ้างเหตุเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่แจ้งการยึดทรัพย์และไม่แจ้งการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบ ทั้งการขายทอดตลาดได้ราคาต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถ้าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่พอใจก็ชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่อุทธรณ์ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนการบังคับคดีซ้ำอีก แม้จะอ้างเหตุใหม่ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีอำนาจในการดำเนินกระบวนพิจารณาและบังคับคดีตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเหตุที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 สามารถยกขึ้นว่ากล่าวในคำร้องฉบับแรกได้อยู่แล้ว แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวไว้ กรณีจึงถือว่าคำร้องฉบับหลังเป็นเรื่องเดียวกับคำร้องฉบับแรกที่ขอให้เพิกถอนกระบวนการบังคับคดีรายเดียวกันซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มายื่นคำร้องขึ้นอีกภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องฉบับแรกแล้วนั้น เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 และเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 1,845,696.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,014,516.07 บาท นับแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2544 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้น หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1402 ตำบลหนองหญ้าขาว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ หากไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 3 ให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์ขอหมายบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินจำนองเป็นประกันออกขายทอดตลาด จนเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำบัญชีแสดงรายรับและจ่ายเงินกับจ่ายเงินให้โจทก์แล้ว
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนการบังคับคดีโดยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่แจ้งการยึดทรัพย์และไม่แจ้งการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบ ทั้งการขายทอดตลาดได้ราคาต่ำกว่าความเป็นจริงมาก
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การบังคับคดีเสร็จลงแล้วก่อนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้อง จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการบังคับคดี ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานธุรการของศาลยุติธรรมจึงไม่มีอำนาจในการดำเนินกระบวนพิจารณาและบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (7) และ (14) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาและบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (14) ที่มีการแก้ไขโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2548 ที่ให้เจ้าพนักงานสังกัดกรมบังคับคดีนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 275 ที่บัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีหน่วยงานธุรการที่เป็นอิสระการดำเนินการของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนกระบวนการบังคับคดีทั้งหมด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีเหตุแห่งคำร้องมิได้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จึงให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เดิมจำเลยที่ 1 และที่ 2 เคยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนการบังคับคดีโดยอ้างเหตุเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่แจ้งการยึดทรัพย์และไม่แจ้งการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบ ทั้งการขายทอดตลาดได้ราคาต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถ้าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่พอใจก็ชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่อุทธรณ์ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนการบังคับคดีซ้ำอีก แม้จะอ้างเหตุใหม่ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีอำนาจในการดำเนินกระบวนพิจารณาและบังคับคดีตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเหตุที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 สามารถยกขึ้นว่ากล่าวในคำร้องฉบับแรกได้อยู่แล้ว แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวไว้ กรณีจึงถือว่าคำร้องฉบับหลังเป็นเรื่องเดียวกับคำร้องฉบับแรกที่ขอให้เพิกถอนกระบวนการบังคับคดีรายเดียวกันซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มายื่นคำร้องขึ้นอีกภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องฉบับแรกแล้วนั้น เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 และเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ