คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1940/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ป.รัษฎากร มาตรา 118 หาได้บังคับให้ปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์ในขณะทำสัญญาไม่ เมื่อสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันได้ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนและขีดฆ่าแล้ว ในขณะฟ้องคดีจะโดยผู้อ้างเป็นผู้กระทำเองหรือผู้อ้างขอให้ศาลสั่งให้เจ้าหน้าที่สรรพากรจัดการให้ก็มีผลเช่นเดียวกัน ศาลจึงรับฟังสัญญาดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในคดีได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 105,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระก็ขอให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระแทน
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน105,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน60,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ หากไม่ชำระก็ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาในชั้นนี้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์หรือไม่เพียงใดและจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่… ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน 60,000 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี มีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกัน ครบกำหนดแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ชำระคืนให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 2ในฐานะผู้ค้ำประกันก็ไม่ชดใช้ให้แทน จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชดใช้เงินต้นและดอกเบี้ยให้โจทก์ตามฟ้อง ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่อาจอ้างสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 เป็นพยานหลักฐาน เพราะอากรแสตมป์ที่ติดในเอกสารดังกล่าวได้ติดก่อนฟ้องคดีนี้ โดยทนายความเป็นคนติดและขีดฆ่าเอง นั้น เห็นว่าประมวลรัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติว่า “ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้และขีดฆ่าแล้ว ฯลฯ” ตามบทบัญญัติดังกล่าวหาได้บังคับให้ปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์ในขณะทำสัญญาไม่ดังนี้แม้มิได้ปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์แต่แรกในขณะทำสัญญา แต่เมื่อได้ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนและขีดฆ่าแล้วในขณะฟ้องคดีนี้จะโดยผู้อ้างเป็นผู้กระทำเองหรือผู้อ้างขอให้ศาลสั่งให้เจ้าหน้าที่สรรพากรจัดการให้ก็มีผลเช่นเดียวกัน ศาลจึงรับฟังสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้…”
พิพากษายืน.

Share