แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์อุทธรณ์คัดค้านหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของจำเลยต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานไม่ชอบ แม้เหตุผลในการคัดค้านของโจทก์จะไม่ได้ยกเรื่องการประเมินของเจ้าพนักงานขาดอายุความ ไม่ชอบด้วยมาตรา 88/6 แห่ง ป.รัษฎากรไว้ในคำอุทธรณ์ด้วย แต่ข้ออ้างดังกล่าวซึ่งโจทก์ยกขึ้นอ้างในการฟ้องคดีนี้ก็เป็นเหตุผลอีกข้อหนึ่งที่โจทก์กล่าวอ้างเพิ่มเติมเพื่อเป็นข้อสนับสนุนว่าการประเมินของเจ้าพนักงานดังกล่าวไม่ชอบนั่นเอง ทั้ง ป. รัษฎากร มาตรา 30 (2) ก็มิได้บัญญัติว่าการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลจะต้องอ้างเหตุผลเช่นเดียวกับที่อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการดังกล่าว โจทก์จึงอ้างถึงเหตุอื่นนอกเหนือจากที่เคยอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการดังกล่าวได้
จำเลยให้การรับว่าเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามฟ้องเกิน 2 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มจริง แต่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว การประเมินของเจ้าพนักงานจำเลยจึงชอบด้วยมาตรา 88/6 แห่ง ป.รัษฎากร จำเลยจึงเป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยมีอำนาจประเมินโดยได้รับอนุมัติจากอธิบดีแล้ว หน้าที่นำสืบจึงตกแก่จำเลย เมื่อจำเลยไม่มีพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าอธิบดีกรมสรรพากรได้มอบอำนาจให้ จ. มีอำนาจอนุมัติให้ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 88/6 แห่ง ป. รัษฎากรแทนอธิบดีแล้ว จึงฟังไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเกิน 2 ปี นับแต่วันยื่นแบบแสดงรายการ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นแต่อย่างใด
โจทก์นำสืบแสดงให้เห็นว่าราคาตลาดของสารเคมีไม่อาจกำหนดให้แน่นอนตายตัวได้ ทั้งนำผู้ซื้อสินค้าจากโจทก์และซื้อจากผู้อื่นมาสืบแสดงถึงราคาที่ได้ซื้อไปจากบริษัทอื่นว่าราคาดังกล่าวเป็นราคาตลาดแล้ว ส่วนจำเลยไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างว่าราคาดังกล่าวไม่ใช่ราคาตลาดเพราะมีบริษัทอื่นขายไปในราคาสูงกว่าที่โจทก์ขายซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาแจ้งราคาตลาดไม่ตรงกับความจริง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์ได้ขายตามราคาตลาด จำเลยจึงไม่มีสิทธิให้เอาราคาทุนเป็นราคาตลาด
โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทในเดือนธันวาคม 2533 แล้วขายไปในเดือนพฤษภาคม 2538 ในราคา 200,000 บาท อ้างว่าคนขับขับรถไปเกิดอุบัติเหตุพังทั้งคัน จึงขายไปในสภาพซากรถ แต่ปรากฏว่ารถยนต์คันดังกล่าวไม่ได้ทำประกันภัยไว้ทั้งๆที่โจทก์ทำประกันภัยรถยนต์คันอื่นของโจทก์ทุกคัน บันทึกการแจ้งความก็ไม่ได้ระบุว่าการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวทำให้รถอยู่ในสภาพเสียหายใช้การไม่ได้อย่างไร ทั้งโจทก์ยังไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าได้ดำเนินการอย่างใดในการที่จะได้รับชดใช้มูลค่าของรถที่โจทก์สูญเสียไปไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท หากคิดตามราคาตลาดของรถยนต์รุ่นเดียวกับโจทก์ที่ซื้อขายกันในขณะนั้น หากรถยนต์ยังอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ การที่จำเลยประเมินราคาขายรถยนต์ดังกล่าวตามราคาตลาด จึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ กับให้งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม ลงวันที่ 5 เมษายน 2543 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ลงวันที่ 6 มีนาคม 2544 ทั้งสิ้น กับให้แก้ไขหนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 ถึง 31 ธันวาคม 2538 ลงวันที่ 6 กันยายน 2543 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ลงวันที่ 6 มีนาคม 2544 โดยให้เพิกถอนเฉพาะรายการที่มีการปรับปรุงและวินิจฉัยว่าโจทก์มีรายได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากการขายสินค้าต่ำกว่าราคาทุน 26,691,379.61 บาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้รับผิดตามทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มและแจ้งเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิของโจทก์หรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเกิน 2 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเพราะได้รับอนุมัติจากอธิบดีตามมาตรา 88/6 แห่ง ป. รัษฎากรแล้ว และโจทก์ไม่ได้หยิบยกเรื่องอำนาจประเมินของเจ้าพนักงานขึ้นอุทธรณ์คัดค้านต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในประเด็นนี้ เห็นว่า โจทก์อุทธรณ์คัดค้านหนังสือแจ้งการประเมินของจำเลยต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 30 แห่ง ป. รัษฎากรว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ชอบ แม้เหตุผลในการคัดค้านของโจทก์จะไม่ได้หยิบยกเรื่องการประเมินของเจ้าพนักงานขาดอายุความไม่ชอบด้วยมาตรา 88/6 แห่ง ป. รัษฎากรไว้ในคำอุทธรณ์ก็ตาม แต่ข้ออ้างดังกล่าวซึ่งโจทก์ยกขึ้นอ้างในการฟ้องคดีนี้ก็เป็นเหตุผลอีกข้อหนึ่งที่โจทก์กล่าวอ้างเพิ่มเติมเพื่อเป็นการสนับสนุนว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินดังกล่าวไม่ชอบนั่นเอง ถือว่าเป็นการกล่าวอ้างเรื่องเดียวกับที่โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เพียงแต่อาศัยเหตุแตกต่างกันไปเท่านั้น ทั้ง ป. รัษฎากรมาตรา 30 (2) ก็บัญญัติเพียงว่าให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ มิได้บัญญัติไว้เลยว่าการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลจะต้องอ้างเหตุผลเช่นเดียวกับที่อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการดังกล่าว โจทก์จึงอ้างเหตุอื่นนอกเหนือจากที่เคยอุทธรณ์ไว้ต่อคณะกรรมการดังกล่าวได้
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์กล่าวในฟ้องแต่เพียงว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ชอบเพราะเกิน 2 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจำเลยให้การว่าได้รับอนุมัติจากอธิบดีแล้ว และศาลภาษีอากรกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 ว่า เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มและแจ้งเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิของโจทก์หรือไม่ มิได้มีประเด็นเรื่องมอบอำนาจแต่อย่างใด เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้าง จำเลยปฏิเสธ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์นั้น เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลย จำเลยให้การรับว่าเจ้าพนักงานประเมิน ประเมินเกิน 2 ปีจริง แต่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงชอบด้วยมาตรา 88/6 แห่ง ป. รัษฎากร จำเลยจึงเป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยมีอำนาจประเมินโดยได้รับอนุมัติจากอธิบดีแล้วหน้าที่นำสืบจึงตกแก่จำเลย เมื่อจำเลยไม่มีเอกสารหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าอธิบดีกรมสรรพากรได้มอบอำนาจให้นางจันทิมา มีอำนาจอนุมัติตามมาตรา 88/6 แห่ง ป. รัษฎากรแทนอธิบดีแล้ว จึงฟังไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเกิน 2 ปี เพราะได้รับอนุมัติจากอธิบดีแล้ว เจ้าพนักงานประเมินจึงไม่มีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวและไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นตามที่จำเลยอุทธรณ์แต่อย่างใด
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยข้อที่สองมีว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิของโจทก์โดยประเมินราคาขายสารเคมีของโจทก์เพิ่มขึ้น โดยคิดจากราคาทุนของสารเคมีชอบหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ต้องพิสูจน์ให้ได้ความว่าการที่โจทก์ขายต่ำกว่าทุนเป็นการขายไปในราคาตลาดจึงจะไม่ถูกประเมินภาษี เมื่อโจทก์นำสืบแสดงให้เห็นว่าราคาตลาดของสารเคมีไม่อาจกำหนดให้แน่นอนตายตัวได้ อีกทั้งโจทก์นำผู้ซื้อสินค้าจากโจทก์และซื้อจากผู้อื่นมาสืบแสดงถึงราคาที่ได้ซื้อไปจากบริษัทอื่นว่าราคาดังกล่าวเป็นราคาตลาดแล้ว ส่วนจำเลยไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างว่าราคาดังกล่าวไม่ใช่ราคาตลาด เพราะมีบริษัทอื่นขายไปในราคาสูงกว่าที่โจทก์ขาย ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาแจ้งราคาตลาดไม่ตรงกับความจริง จึงฟังได้ว่าโจทก์ได้ขายตามราคาตลาด จำเลยจึงไม่มีสิทธิกำหนดให้เอาราคาทุนมาเป็นราคาตลาด อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ขายรถยนต์ไปในราคาตลาดหรือไม่ โจทก์นำสืบว่า รถพิพาทเป็นรถยี่ห้อเบนซ์ 300 SEL โจทก์ซื้อมาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2533 ราคา 8,600,000 บาท โจทก์ขายไปเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2538 ในราคา 200,000 บาท อ้างว่าเพราะคนขับรถไปเกิดอุบัติเหตุรถพังทั้งคันจึงขายไปในสภาพซากรถ รถดังกล่าวไม่ได้ทำประกันภัยเพราะเป็นรถประจำตำแหน่งของผู้จัดการ ไม่ใช่รถส่วนกลาง โจทก์เห็นว่าการจ่ายเบี้ยประกันภัยไม่คุ้มกับค่าคุ้มครอง เพราะรถไม่ได้ใช้งานมาก จึงไม่ทำประกันภัยไว้ เห็นว่า รถคันดังกล่าวเป็นรถราคาสูง แต่โจทก์กลับไม่ได้ทำประกันภัยไว้ทั้ง ๆ ที่โจทก์ทำประกันภัยรถคันอื่นของโจทก์ทุกคัน อ้างเหตุผลว่าใช้น้อยไม่คุ้มกับค่าประกันภัย อีกทั้งเมื่อเทียบราคาตลาดที่จำเลยนำสืบให้เห็นว่าในปี 2542 รถรุ่นเดียวกันกับของโจทก์ ประกาศขายในราคา 2,100,000 บาท และ 2,300,000 บาท การที่โจทก์ขายไปในปี 2538 ในราคาเพียง 200,000 บาท โจทก์ต้องนำสืบแสดงให้เชื่อได้ว่าในขณะขายนั้นรถอยู่ในสภาพซากรถจริง เมื่อตรวจดูบันทึกแจ้งความแล้ว ไม่ได้ระบุว่าการเกิดอุบัติเหตุตามที่แจ้งความรถอยู่ในสภาพเสียหายใช้การไม่ได้อย่างไรบ้าง โจทก์ได้ดำเนินการอย่างไรในการที่จะได้รับการชดใช้มูลค่าของรถที่โจทก์จะต้องสูญเสียไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท ตามมูลค่าราคารถหากยังอยู่ในสภาพใช้การได้ พยานโจทก์จึงขาดเหตุผลสนับสนุนให้เชื่อได้ว่าขณะโจทก์ขายรถดังกล่าวไปรถอยู่สภาพซากรถที่มีราคาตลาดเพียง 200,000 บาท ที่จำเลยคิดคำนวณราคาตลาดให้ใหม่โดยมีหลักฐานอ้างอิงชัดเจน จึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ.