คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 194/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การคำนวณระยะเวลาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/5 บัญญัติให้คำนวณตามปีปฏิทิน ปรากฏว่าในปี พ.ศ. 2531 เดือนกุมภาพันธ์ มี 29 วัน ดังนั้น ปีพ.ศ. 2531 จึงมี 366 วัน การคิดคำนวณดอกเบี้ยเฉพาะในปี พ.ศ. 2531 จึงต้อง ใช้ระยะเวลา 366 วัน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้(จำเลย) ไว้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2531 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษา ตั๋วสัญญาใช้เงินและค้ำประกันจำนวน 138,882,080.10 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ จำนวน 96,481,207.19 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้โดยมีเงื่อนไขว่าหากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อันดับ 1 ถึง 3จากบริษัทกรุงเทพสีลม จำกัด และนายชำนาญ อัศวโรจน์หนี้อันดับ 4 และ 7 จากบริษัทไทยภาณุ จำกัด และหนี้อันดับ 5 จากนายชำนาญ อัศวโรจน์แล้วเพียงใดก็ให้สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ในคดีนี้ลดลงเพียงนั้น ส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสีย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้96,481,207.91 บาท ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เจ้าหนี้อุทธรณ์เฉพาะหนี้อันดับ 1, 2, และ 4 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อันดับ 1 เพิ่มขึ้นอีก 11,891,146.03 บาท ได้รับชำระหนี้อันดับ 2 เพิ่มขึ้นอีก616.44 บาท ได้รับชำระหนี้อันดับ 4 เพิ่มขึ้นอีก 8,902.50 บาทนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหามาสู่ศาลฎีกาว่าเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยในหนี้อันดับ 2 และ 4 ถูกต้องหรือไม่ เห็นว่าหนี้อันดับ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 3,218,835.60 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง(วันที่ 20 มิถุนายน 2528) จนกว่าจะชำระเสร็จ หนี้อันดับ 4ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 26,550,576.08 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 21,662,796.37 บาท นับถัดจากวันฟ้อง(วันที่ 25 เมษายน 2529) จนกว่าจะชำระเสร็จเห็นว่า การคำนวณระยะเวลาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/5 บัญญัติให้คำนวณตามปีปฏิทิน คดีนี้ปรากฏว่าในปี พ.ศ. 2531 เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน ดังนั้น ปี พ.ศ. 2531 จึงมี 366 วัน การคิดคำนวณดอกเบี้ยเฉพาะในปี พ.ศ. 2531 จึงต้องใช้ระยะเวลา 366 วันเป็นเกณฑ์ในการคำนวณแยกออกจากปีก่อน ๆ ที่เจ้าหนี้คำนวณดอกเบี้ย วันละ 616.44 บาท เป็นการคำนวณโดยถือว่าปีหนึ่งมี 365 วัน ส่วนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คำนวณระยะเวลาเป็นวันแล้วรวมกัน เป็นปี เหลือเศษกี่วันจึงมาคำนวณดอกเบี้ย จึงไม่เป็นการถูกต้อง เมื่อคำนวณดอกเบี้ยดังได้กล่าวมาแล้วหนี้อันดับ 2 โจทก์จึง คิดเกินและขอมาเกิน 564.23 บาท หนี้อันดับ 4 โจทก์คิดมาเกินและ ขอมาเกิน 8,148.48 บาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกา ไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อันดับ 2และอันดับ 4 เพิ่มขึ้นอีก 52.21 บาท และ 754.02 บาท จากคำสั่งศาลชั้นต้นตามลำดับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share