คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2372/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างเป็นผู้ประกอบกิจการค้าภาพยนตร์ด้วยกันก่อนโจทก์ได้ลิขสิทธิ์การฉายภาพยนตร์พิพาท จำเลยที่ 1ได้โฆษณาแนะนำภาพยนตร์พิพาทมาก่อน ต่อมาเมื่อโจทก์ได้ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์พิพาท โจทก์โฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันทำนองว่าโจทก์ทุ่มเงินซื้อภาพยนตร์พิพาททำให้จำเลยที่ 1 ช้ำใจ เสียหน้า เสียน้ำตาเมื่อโจทก์เริ่มทำการฉายภาพยนตร์พิพาทแล้วก็ยังมีการโฆษณาเป็นทำนองทำลายชื่อเสียงของจำเลยที่ 1 อยู่เรื่อย ๆ ดังนี้ เป็นกรณีที่โจทก์มีเจตนาทำลายชื่อเสียงจำเลยที่ 1 ทำให้ได้รับความเสื่อมเสียการที่จำเลยที่ 1 ออกโฆษณาโต้ตอบเพื่อป้องกันความเสียหายอันจะพึงเกิดขึ้นโดยตรง และเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อป้องกันความเสียหายอันจะเกิดแก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อป้องกันตนตามคลองธรรม ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์แก่บุคคลทั่วไปว่าภาพยนตร์จีนเรื่องฉีจี้ที่จำเลยที่ 1ซื้อลิขสิทธิ์มานำแสดงโดยดารายอดนิยมชื่อว่า เฉินหลงนั้นเฉินหลงแสดงภาพยนตร์เรื่องฉีจี้ โดยไม่ได้แสดงบทมุทะลุบ้าบิ่นและเสี่ยงอันตรายด้วยตนเองแต่ใช้ตัวแสดงแทน ไม่เหมือนกับเฉินหลงในภาพยนตร์เรื่องวิ่งสู้ฟัด 1 และวิ่งสู้ฟัด 2การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน2,800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
จำเลยทั้งสองให้การว่า ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสองแถลงต่อสื่อมวลชนและโทรทัศน์ชี้แจงเหตุผลว่าจำเลยที่ 1 งดซื้อภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเฉินหลง เพราะไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ จำเลยที่ 1 ไม่เคยโฆษณาว่า ภาพยนตร์เรื่องฉีจี้ไม่บ้าบิ่น ไม่มุทะลุ ไม่เสี่ยงตายดังฟ้องโจทก์ โจทก์ไม่เสียหายจำเลยที่ 2 กระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 เสียด้วยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีเฉพาะจำเลยที่ 2 เป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้ตามข้อฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ และอีกประการหนึ่งว่า ค่าเสียหายของโจทก์เป็นจำนวนเงินถึง 2,800,000 บาท ดังที่โจทก์อ้างมาในฎีกาหรือไม่พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 หรือ “นนทนันท์” ประกอบการค้าซื้อภาพยนตร์จีนจากบริษัทโกลเด้นฮาร์เวสต์ จำกัด เมืองฮ่องกง เข้ามาฉายในประเทศไทยเป็นส่วนมาก ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน2532 จำเลยที่ 1 ได้โฆษณาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและเดลินิวส์ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งซื้อภาพยนตร์จีนเรื่องฉีจี้ นำแสดงโดยดารายอดนิยม เฉินหลงเข้ามาฉายในประเทศไทยตามเอกสารหมาย จ.3ถึง จ.10 ต่อมากลางเดือนมิถุนายน 2532 โจทก์ซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์เรื่องฉีจี้ จากบริษัทโกลเด้นฮาร์เวสต์ จำกัด ในราคา2,360,000 เหรียญฮ่องกง ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.11 ต่อจากนั้นโจทก์ได้โฆษณาว่า โจทก์ได้สิทธิการจัดฉายภาพยนตร์เรื่องฉีจี้ในประเทศไทย และกำหนดวันฉายในโรงภาพยนตร์ 10 กว่าแห่งต้นเดือนกรกฎาคม 2532 จำเลยที่ 1 ได้แถลงข่าวถึงสาเหตุที่ตนไม่ซื้อภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวว่าไม่เป็นดังที่คาดหวังไว้ ตามเอกสารหมาย จ.20
ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามข้อฎีกาของโจทก์ในประการแรกก่อนว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์มีนายสมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ เป็นพยานเบิกความว่า โจทก์เป็นผู้ซื้อสิทธิการฉายภาพยนตร์เรื่องฉีจี้ หรือMR.CANTON AND LADY ROSE จากบริษัทโกลเด้นฮาร์เวสต์ จำกัดซึ่งมีเฉินหลงเป็นดารานำแสดง หลังจากนั้นเมื่อระหว่างวันที่3 กรกฎาคม ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2532 จำเลยที่ 1 โฆษณาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและเดลินิวส์กับโฆษณาออกอากาศทางโทรทัศน์สีช่อง 3 ช่อง 5 และช่อง 7 ทำนองว่าภาพยนตร์เรื่องก่อน ๆ ที่เฉินหลงแสดงนั้นสนุกกว่าภาพยนตร์เรื่องฉีจี้ที่โจทก์ได้สิทธิปรากฏตามเอกสารหมาย จ.12-จ.15 ซึ่งมีข้อความว่า “นนทนันท์”แถลงข้อเท็จจริงเหตุผลที่งดซื้อหนังเฉินหลงเรื่องล่าสุด เพราะผิดจากแนวที่นนทนันท์ฯคาดหมายไว้เกรงจะทำให้แฟนประจำนนทนันท์ฯผิดหวัง โปรดติดตามรายละเอียดในข่าวสังคมธุรกิจ วันที่ 3 เวลา 20.25นาฬิกา ทางช่อง 7 วันที่ 5 เวลา 21.55 นาฬิกา ทางช่อง 5วันที่ 6 เวลา 20.40 นาฬิกา ทางช่อง 3 และรายละเอียดการชี้แจงของจำเลยที่ 1 ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2532 ตามเอกสารหมาย จ.17 มีข้อความตรงกับที่ปรากฏในม้วนวีดีโอเทปข่าวสังคมธุรกิจททบ.5 ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2532 ว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัทนนทนันท์ เอนเตอร์เทนเม้นท์จำกัด ได้จัดแถลงข่าวขึ้นที่บริษัทถึงข้อเท็จจริงที่งดซื้อภาพยนตร์”เฉินหลง” เรื่องล่าสุดเพื่อตอบข้อข้องใจของแฟนประจำนนทนันท์ฯคุณอานนท์ อัศวานันท์ กรรมการผู้จัดการได้แถลงว่า ภาพยนตร์”เฉินหลง” เรื่องล่าสุดได้ผิดแนวไปจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ทางนนทนันท์ฯเกรงว่าแฟน ๆ ที่ติดตามงานของเฉินหลงจะผิดหวังคุณอานนท์ได้ยกตัวอย่างให้เห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องก่อน ๆ ของเฉินหลงนั้น เฉินหลง แสดงแบบกล้าเสี่ยง กล้าตาย บ้าบิ่น มุทะลุไม่ยอมใช้ตัวแสดงแทน จนได้รับบาดเจ็บหลายครั้ง อย่างเช่นวิ่งสู้ฟัด 1 วิ่งสู้ฟัด 2 แต่เมื่อภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ”เฉินหลง” มิได้เป็นไปตามที่ทางนนทนันท์ฯคาดหวังที่จะสนองความต้องการให้กับแฟนประจำนนทนันท์ฯจึงต้องงดซื้อภาพยนตร์ดังกล่าว ในท้ายสุดคุณอานนท์ได้กล่าวย้ำว่า เป็นนโยบายสำคัญที่สุดของนนทนันท์ฯที่จะเลือกสรรภาพยนตร์ที่จะสร้างความสนุกแบบที่ไม่ให้แฟนประจำผิดหวัง ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 โฆษณาเช่นนั้นก็เพราะก่อนหน้าที่โจทก์จะได้ลิขสิทธิ์การฉายภาพยนตร์พิพาทเรื่องฉีจี้ หรือ MR. CANTON AND LADY ROSE จากบริษัทโกลเด้นฮาร์เวสต์ จำกัด ซึ่งมีเฉินหลงเป็นดารานำแสดง จำเลยที่ 1ได้โฆษณาแนะนำภาพยนตร์พิพาทมาก่อน แล้วต่อมาเมื่อโจทก์ได้ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์พิพาท โจทก์ก็ได้โฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันตลอดมาตามเอกสารหมาย ล.4 ล.6 ล.8 ล.11 และ ล.21 เป็นทำนองว่าโจทก์ได้ทุ่มเงินซื้อภาพยนตร์พิพาททำให้จำเลยที่ 1 ช้ำใจ เสียหน้าเสียน้ำตา จำเลยที่ 1 จึงได้ออกโฆษณาดังกล่าวเพื่อตอบโต้ และเมื่อโจทก์เริ่มทำการฉายภาพยนตร์พิพาทแล้ว ก็ยังมีการโฆษณาเป็นทำนองทำลายชื่อเสียงของจำเลยที่ 1 อยู่เรื่อย ๆ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ให้ข่าวนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะข่าวดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ของโจทก์เองโดยตรงการที่โจทก์มีเจตนาทำลายชื่อเสียงจำเลยที่ 1 ซึ่งประกอบกิจการค้าภาพยนตร์เช่นเดียวกับโจทก์ เพื่อที่จะทำให้โจทก์ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนในประเทศไทยที่สนใจชมภาพยนตร์จีนมากยิ่งขึ้นนั้น ย่อมเป็นการทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่แข่งในด้านนี้ของโจทก์ได้รับความเสื่อมเสีย ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 โต้ตอบเพื่อป้องกันความเสียหายอันจะพึงเกิดขึ้นแก่จำเลยที่ 1 โดยตรง และเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อป้องกันความเสียหายอันจะเกิดขึ้นแก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อป้องกันตนตามคลองธรรมอันไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เมื่อวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นการละเมิดแล้วจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยข้อฎีกาของโจทก์เกี่ยวกับเรื่องค่าเสียหายอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว”
พิพากษายืน

Share