แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อปรากฏว่า โจทก์อ้างมาในฟ้องตั้งแต่แรกแล้วว่าการกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์อันเป็นหลักเกณฑ์ของการกำหนดค่าทดแทนที่ดินซึ่งแก้ไขโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่44 ข้อ 1 จำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ขอเรียกตามฟ้องและจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินที่ขอเพิ่มตามคำร้องขอแก้ไขฟ้องนั้นอาศัยหลักเกณฑ์เดียวกัน โจทก์สามารถที่จะขอแก้ไขได้ก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่ายี่สิบเอ็ดวัน และเนื้อหาสาระที่ขอแก้ไขมิใช่ปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนี้คำร้องขอแก้ไขฟ้องของโจทก์จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ.มาตรา 180 ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขฟ้องนั้นชอบแล้ว
ขณะคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ออกใช้บังคับ ซึ่งข้อ 1 บัญญัติให้ยกเลิกความในวรรคสี่และวรรคห้าของมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหา-ริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ในการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทน ให้คณะกรรมการกำหนดโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 18 มาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา 24…”และข้อ 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บทบัญญัติมาตรา 9 วรรคสี่และวรรคห้า…แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับแก่การเวนคืนซึ่งการกำหนดราคาเบื้องต้น การจัดซื้อ การจ่ายหรือการวางเงินค่าทดแทนการอุทธรณ์หรือการฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ใช้บังคับด้วย ดังนั้นในการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งที่ดินที่ต้องเวนคืนนั้นศาลต้องพิจารณาโดยคำนึงถึง (1) ถึง (5) ของมาตรา 21แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ด้วย
ตามคำอุทธรณ์ของโจทก์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ระบุว่า ที่ดินส่วนที่เหลือไม่สามารถทำประโยชน์ในกิจการที่เหมาะสมอีกต่อไปเนื่องจากต้องตกอยู่ใต้ทางด่วน ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อย่างยิ่ง และข้อความดังกล่าวโจทก์ได้กล่าวอ้างรวมมากับข้อเรียกร้องให้ชำระเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเพิ่มเติม เห็นได้ว่า โจทก์ประสงค์จะเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ในส่วนที่ราคาลดลงด้วย ถือว่าโจทก์ได้ร้องขอให้รัฐมนตรีฯ พิจารณาเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือราคาลดลงแล้ว โจทก์จึงมีสิทธินำคดีส่วนนี้มาฟ้องต่อศาลได้ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 26
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่าในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น และมาตรา 11 วรรคหนึ่งบัญญัติว่าในกรณีที่มีการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันได้ตามมาตรา 10 ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่จ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขาย ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยได้ทำซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันตามมาตรา 10 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2532 ตามสำเนาสัญญาซื้อขายฯ นับแต่วันดังกล่าวไปอีกหนึ่งร้อยยี่สิบวัน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยจะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์คือวันที่ 6 กันยายน 2532 อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา26 วรรคสาม โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันดังกล่าวในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสิน มิใช่นับแต่วันที่โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราตามคำขอของโจทก์