คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5184/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสามต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวฟ้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3กับพวกร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดให้แก่โจทก์แต่ละคน แม้โจทก์ทั้งสามจะฟ้องรวมกันมาก็ตาม แต่ก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกันเป็นราย ๆ ไป ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ทั้งสามในส่วนของค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ทั้งสาม ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ร่วมกับพวกรับผิดชำระแก่โจทก์ทั้งสามตามฟ้อง ส่วนค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายในการประกอบพิธีศพกับค่าเสียหายเกี่ยวกับค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ของผู้ตาย ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับพวกรับผิดรายการละ 20,000 บาท ตามลำดับโดยศาลอุทธรณ์ฟังว่า ความเสียหายเป็นผลมาจากการประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสามตามฟ้อง โดยอ้างการตายของผู้ตายมิได้เกิดจากการกระทำโดยละเมิดของจำเลยที่ 1 และโจทก์ทั้งสามมิได้รับความเสียหายตามจำนวนเงินที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ ฎีกาของจำเลยที่ 2และที่ 3 จึงเป็นฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริง เมื่อจำนวนทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขึ้นมานั้นเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสุเทพ จีนสุขประเสริฐ โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสุเทพ จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1ร-6831กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1ร-6831กรุงเทพมหานคร ในกิจการงานของจำเลยที่ 2 ด้วยความเร็วสูงโดยประมาทแล่นข้ามเกาะกลางถนนไปชนรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียนสมุทรสาครค-7144 ที่นายสุเทพขับสวนทางมาทำให้นายสุเทพถึงแก่ความตายและรถจักรยานยนต์ของนายสุเทพได้รับความเสียหายใช้การไม่ได้ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน421,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า อุบัติเหตุครั้งนี้มิได้เกิดจากการขับรถยนต์โดยประมาทของจำเลยที่ 1 แต่เกิดจากเหตุสุดวิสัยขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน381,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงิน40,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (5 ตุลาคม 2532) และของต้นเงิน341,000 บาท นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นพิพากษา (28 กันยายน 2533)เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสามต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวฟ้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดให้แก่โจทก์แต่ละคน แม้โจทก์ทั้งสามจะฟ้องรวมกันมาก็ตาม แต่ก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกันเป็นราย ๆ ไปเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ทั้งสามนี้ในส่วนของค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ทั้งสาม ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2และที่ 3 ร่วมกับพวกรับผิดชำระแก่โจทก์ทั้งสามตามฟ้อง ส่วนค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายในการประกอบพิธีศพกับค่าเสียหายเกี่ยวกับค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ของผู้ตาย ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับพวกรับผิดรายการละ 20,000 บาท ตามลำดับโดยศาลอุทธรณ์ฟังว่า ความเสียหายเป็นผลมาจากการประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสามตามฟ้อง โดยอ้างการตายของผู้ตายมิได้เกิดจากการกระทำโดยละเมิดของจำเลยที่ 1 และโจทก์ทั้งสามมิได้รับความเสียหายตามจำนวนเงินที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริง เมื่อจำนวนทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขึ้นมานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3

Share