แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทำใบสั่งซื้อรถรวม 26 คัน จากจำเลยที่ 2 ต่อมาโจทก์ทำสัญญาซื้อขายรถ 26 คัน แก่สำนักงานศาลยุติธรรม กำหนดส่งมอบรถภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถให้โจทก์ 2 งวด งวดแรก 16 คัน งวดที่ 2 อีก 5 คัน และโจทก์ได้ส่งมอบให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรมแล้ว จากนั้นจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาไม่ส่งมอบรถอีก 5 คัน ให้แก่โจทก์อันเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ โจทก์ชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 215 แต่การเรียกเอาค่าเสียหายนั้น ป.พ.พ. มาตรา 222 แบ่งความเสียหายออกเป็น 2 กรณี กรณีแรกตามวรรคหนึ่ง เป็นความเสียหายเช่นที่ปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ กรณีที่สองตามวรรคสองเป็นความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ หากว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ซื้อรถจากจำเลยที่ 2 เพื่อนำไปขายให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรม และก่อนหน้านั้นจำเลยที่ 2 ได้ส่งมอบรถให้แก่โจทก์ไปแล้วจำนวน 16 คัน โดยตามข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่ามีการระบุวันเวลาส่งมอบรถที่แน่นอนวันใด คงปรากฏตามใบสั่งซื้อว่า “เครดิตการชำระเงิน 30 วัน นับแต่วันส่งมอบรถยนต์” จึงเป็นกรณีที่เวลาอันจะพึงส่งมอบรถไม่ได้กำหนดกันไว้ โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถที่เหลือได้โดยพลัน และจำเลยที่ 2 ก็ชอบที่จะส่งมอบรถที่เหลือได้โดยพลันเช่นกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 โจทก์มีหนังสือให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถที่ค้าง 10 คัน โดยมีใจความสำคัญว่า โจทก์ได้แจ้งด้วยวาจาผ่าน ม. ขอรับรถภายในวันที่ 20 พฤษภาคม 2549 แต่โจทก์ได้รับแจ้งกลับว่าจำเลยที่ 2 หารถส่งมอบให้ได้เพียง 5 คัน ที่เหลือต้องไปรับเดือนหน้าเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงหากไม่สามารถส่งมอบรถได้ทันเวลาภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 จึงขอให้ดำเนินการช่วยเหลือโจทก์โดยด่วน เท่ากับโจทก์กำหนดเวลาแน่นอนให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 ทราบแล้วว่าโจทก์ซื้อรถจากจำเลยที่ 2 โดยโจทก์มีความผูกพันที่จะต้องส่งมอบรถให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรม จำเลยที่ 2 ย่อมเข้าใจความหมายตามหนังสือฉบับดังกล่าวได้ว่า หากจำเลยที่ 2 ไม่ส่งมอบรถอีก 5 คัน ให้แก่โจทก์ภายในกำหนด โจทก์จะได้รับความเสียหายจากการที่โจทก์จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรมตามสัญญา แม้ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2549 จำเลยที่ 2 จะมีหนังสือถึงโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 ไม่สามารถส่งมอบรถอีก 5 คัน ให้โจทก์ได้เนื่องจากจำเลยที่ 2 ประมาณการสั่งซื้อผิดพลาด ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการส่งมอบรถให้โจทก์ได้ภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 และการที่โจทก์มีหนังสือฉบับลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2549 ถึงจำเลยที่ 2 อีกครั้งโดยสำทับว่าโจทก์จะได้รับความเสียหายจากค่าปรับของสำนักงานศาลยุติธรรม ขอให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถที่เหลืออีก 5 คัน แก่โจทก์ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 และกำชับว่าให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการส่งมอบรถโดยด่วนเพื่อมิให้เกิดความเสียหายตามมาภายหลังในความผิดพลาดของจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 คงเพิกเฉย จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาเมื่อโจทก์เรียกให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถครั้งสุดท้าย มิใช่ผิดสัญญาตั้งแต่ครั้งที่จำเลยที่ 2 แจ้งเหตุขัดข้องว่าไม่สามารถส่งมอบรถได้ ตามพฤติการณ์จึงเป็นการชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่ว่าโจทก์มีหนี้ที่จะต้องชำระโดยส่งมอบรถให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรม และหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 2 ย่อมคาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นก่อนที่จำเลยที่ 2 ผิดสัญญาว่า โจทก์จะได้รับความเสียหายจากการถูกสำนักงานศาลยุติธรรมปรับตามสัญญาอันเนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้ส่งมอบรถให้แก่โจทก์ภายในกำหนด จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์ที่ถูกสำนักงานศาลยุติธรรมปรับจำนวน 1,800,000 บาท เมื่อค่าปรับดังกล่าวเป็นหนี้เงิน โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 2 ในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 261,249,361.22 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งเจ็ดให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ให้เป็นพับ จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 115,885 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 กรกฎาคม 2550) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าขึ้นศาลแทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี ส่วนค่าทนายความให้เป็นพับ ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่ถูกสำนักงานศาลยุติธรรมปรับจำนวน 1,800,000 บาท จากจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ไม่ส่งมอบรถที่เหลืออีก 5 คัน ให้แก่โจทก์ภายในกำหนด เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 215 แต่การเรียกเอาค่าเสียหายนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 แบ่งความเสียหายออกเป็น 2 กรณี กรณีแรกตามวรรคหนึ่งเป็นความเสียหายเช่นที่ปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ กรณีที่สองตามวรรคสองเป็นความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ หากว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว ได้ความว่าโจทก์ซื้อรถจากจำเลยที่ 2 แล้วนำไปขายต่อให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรม โดยสัญญาซื้อขายรถที่โจทก์ทำกับสำนักงานศาลยุติธรรมและทำกับจำเลยที่ 2 ไม่เกี่ยวข้องกัน ดังนี้ ค่าปรับที่โจทก์จะต้องรับผิดตามสัญญาแก่สำนักงานศาลยุติธรรมอันเนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่ส่งมอบรถที่เหลืออีก 5 คัน แก่โจทก์จึงไม่ใช่ความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การที่จำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ตามที่โจทก์ฎีกา แต่หากจำเลยที่ 2 ได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นว่าการที่จำเลยที่ 2 ผิดสัญญาไม่ส่งมอบรถให้แก่โจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ถูกสำนักงานศาลยุติธรรมปรับ ถือเป็นความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายให้แก่โจทก์ จึงมีปัญหาว่า จำเลยที่ 2 ได้ทราบถึงพฤติการณ์ความเสียหายอันเป็นพฤติการณ์พิเศษของโจทก์ในอีกสัญญาหนึ่งหรือไม่ นางสาวพุทธิกาญจน์ ผู้ช่วยกรรมการฝ่ายขายของโจทก์เบิกความตอบโจทก์และตอบทนายจำเลยที่ 2 ว่า หลังจากโจทก์ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์แก่สำนักงานศาลยุติธรรมแล้ว พยานได้โทรศัพท์แจ้งให้นางสาวมุกดา ผู้จัดการฝ่ายขายของจำเลยที่ 2 ทราบ และพยานเคยให้พนักงานโจทก์โทรสารไปให้จำเลยที่ 2 ทราบแล้ว ข้อนี้โจทก์ไม่มีหลักฐานทางเอกสารมายืนยันว่าได้โทรสารไปให้จำเลยที่ 2 ทราบแล้ว และข้อสำคัญเมื่อนางสาวมุกดามาเบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 2 โจทก์ก็ไม่ได้ถามค้านเพื่อให้นางสาวมุกดายอมรับหรือให้โอกาสนางสาวมุกดาได้เบิกความชี้แจงความจริงในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด ทางนำสืบโจทก์ในข้อนี้จึงเป็นการกล่าวอ้างขึ้นเองลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักควรแก่การรับฟัง แต่อย่างไรก็ดีนายทรงวิทย์ พยานจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นประธานกรรมการผู้บริหารจำเลยที่ 2 เบิกความว่า เมื่อกลางเดือนมีนาคม 2549 พยานทราบความจริงว่า รถยนต์ที่โจทก์สั่งซื้อจากจำเลยที่ 2 จำนวน 26 คัน โจทก์นำไปขายต่อให้สำนักงานศาลยุติธรรมซึ่งตรงกับคำให้การของนางสาวมุกดา และสอดคล้องกับข้อความในหนังสือที่จำเลยที่ 2 มีถึงโจทก์ฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม 2549 แสดงว่า ในวันดังกล่าวจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ซื้อรถจากจำเลยที่ 2 ไปขายให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรม และก่อนหน้าวันดังกล่าวจำเลยที่ 2 ได้ส่งมอบรถให้แก่โจทก์ไปแล้วบางส่วนจำนวน 16 คัน ยังคงเหลืออีก 10 คัน ที่จำเลยที่ 2 จะต้องส่งมอบรถแก่โจทก์ โดยตามข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ก็ไม่ปรากฏว่ามีการระบุวันเวลาส่งมอบรถที่แน่นอนวันใด คงปรากฏตามใบสั่งซื้อฉบับลงวันที่ 23 มกราคม 2549 ว่า “เครดิตการชำระเงิน 30 วัน นับแต่วันส่งมอบรถยนต์” เท่านั้น จึงเป็นกรณีที่เวลาอันจะพึงส่งมอบรถไม่ได้กำหนดกันไว้ ดังนี้ โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถที่เหลือได้โดยพลัน และจำเลยที่ 2 ก็ชอบที่จะส่งมอบรถที่เหลือได้โดยพลันเช่นกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 ได้ความว่า นายทรงวิทย์ทราบเรื่องที่โจทก์มีหนังสือฉบับลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2549 ถึงบิดานายทรงวิทย์ ให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถที่ค้างส่งจำนวน 10 คัน โดยหนังสือฉบับดังกล่าวมีใจความสำคัญว่า โจทก์ได้แจ้งด้วยวาจาผ่านนางสาวมุกดาขอรับรถภายในวันที่ 20 พฤษภาคม 2549 ต่อมาโจทก์ได้รับแจ้งกลับว่าจำเลยที่ 2 หารถส่งมอบให้ได้เพียง 5 คัน ที่เหลือต้องไปรับเดือนหน้า เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงหากไม่สามารถส่งมอบรถได้ทันเวลาภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 จึงขอให้ดำเนินการช่วยเหลือโจทก์โดยด่วน เท่ากับโจทก์กำหนดเวลาแน่นอนให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 มิฉะนั้นโจทก์จะได้รับความเสียหาย ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 ทราบแล้วว่าโจทก์ซื้อรถจากจำเลยที่ 2 โดยโจทก์มีความผูกพันที่จะต้องส่งมอบรถให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรม จำเลยที่ 2 ย่อมเข้าใจความหมายตามหนังสือฉบับดังกล่าวได้ว่า หากจำเลยที่ 2 ไม่ส่งมอบรถอีก 5 คัน ให้แก่โจทก์ภายในกำหนด โจทก์จะได้รับความเสียหายจากการที่โจทก์จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรมตามสัญญา แม้ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2549 จำเลยที่ 2 จะมีหนังสือถึงโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ไม่สามารถส่งมอบรถอีก 5 คัน ให้โจทก์ได้เนื่องจากจำเลยที่ 2 ประมาณการสั่งซื้อผิดพลาด ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการส่งมอบรถ ซึ่งเท่ากับจำเลยที่ 2 แจ้งต่อโจทก์ว่ามีเหตุขัดข้องที่จำเลยที่ 2 ไม่สามารถส่งมอบรถอีก 5 คัน ให้โจทก์ได้ภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 แต่ข้อขัดข้องดังกล่าวก็ไม่ใช่คำยืนยันว่าจำเลยที่ 2 ปฏิเสธจะไม่ชำระหนี้คือไม่ส่งมอบรถอีก 5 คัน ให้แก่โจทก์เสียเลย ทั้งโจทก์ก็มิได้ถือว่าจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาโดยยังคงคาดหวังว่าจะได้รับการชำระหนี้จากจำเลยที่ 2 เพราะขณะนั้นยังเหลือเวลาที่โจทก์จะส่งมอบรถ 5 คัน สุดท้ายให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรมได้ทันภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 อันเป็นเงื่อนเวลาที่ยังเป็นประโยชน์ในการชำระหนี้ของโจทก์อยู่ และเป็นความชอบธรรมที่โจทก์จะป้องกันมิให้ตนได้รับความเสียหายเมื่อยังมีโอกาส การที่ต่อมาโจทก์มีหนังสือฉบับลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2549 ถึงจำเลยที่ 2 อีกครั้งโดยสำทับว่าโจทก์จะได้รับความเสียหายจากค่าปรับของสำนักงานศาลยุติธรรม ขอให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถที่เหลืออีก 5 คัน แก่โจทก์ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 และกำชับว่าให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการส่งมอบรถโดยด่วนเพื่อมิให้เกิดความเสียหายตามมาภายหลังในความผิดพลาดของจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ยังเพิกเฉยไม่ส่งมอบรถที่เหลืออีก 5 คัน แก่โจทก์ภายในกำหนด จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาเมื่อโจทก์เรียกให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถครั้งสุดท้าย มิใช่ผิดสัญญาตั้งแต่ครั้งที่จำเลยที่ 2 แจ้งเหตุขัดข้องว่าไม่สามารถส่งมอบรถได้ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย พฤติการณ์ดังวินิจฉัยมาจึงเป็นการชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่ว่าโจทก์มีหนี้ที่จะต้องชำระโดยส่งมอบรถให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรม และหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องชำระแก่โจทก์โดยส่งมอบรถภายในกำหนดให้แก่โจทก์ก่อน จำเลยที่ 2 ย่อมคาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นก่อนที่จำเลยที่ 2 ผิดสัญญาว่า โจทก์จะได้รับความเสียหายจากการถูกสำนักงานศาลยุติธรรมปรับตามสัญญาอันเนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้ส่งมอบรถให้แก่โจทก์ภายในกำหนด จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์ที่ถูกสำนักงานศาลยุติธรรมปรับจำนวน 1,800,000 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่สามารถคาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นถึงค่าปรับที่โจทก์จะต้องชำระแก่สำนักงานศาลยุติธรรมนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาข้อสุดท้ายโจทก์ฎีกาว่า หากโจทก์ไม่ถูกสำนักงานศาลยุติธรรมปรับเป็นเงิน 1,800,000 บาท โจทก์สามารถนำเงินไปลงทุนได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดเป็นค่าเสียหายถึงวันฟ้องจำนวน 70,273 บาท และการที่โจทก์ถูกสำนักงานศาลยุติธรรมปรับทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียงและความน่าเชื่อทางธุรกิจ คิดเป็นค่าเสียหายจำนวน 300,000 บาท รวมทั้งหากจำเลยที่ 2 ส่งมอบรถตรงตามกำหนด โจทก์จะได้รับค่ารถยนต์จำนวน 5,000,000 บาท ในวันที่ส่งมอบรถ ขอคิดค่าเสียหายเท่ากับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นเงินทั้งสิ้น 198,287 บาท เห็นว่า ความเสียหายดังกล่าวมิใช่เช่นที่ตามปกติเกิดขึ้นจากการที่จำเลยที่ 2 ไม่ส่งมอบรถจำนวน 5 คัน ให้แก่โจทก์ตามสัญญา และไม่ใช่ความเสียหายที่จำเลยที่ 2 ได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองไม่กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่อย่างไรก็ดีสำหรับค่าปรับจำนวน 1,800,000 บาท แม้โจทก์จะเรียกค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ที่ไม่สามารถนำไปลงทุนให้ได้รับผลตอบแทนโดยเทียบเท่ากับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ก็ตาม แต่ค่าปรับดังกล่าวเป็นหนี้เงิน โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 2 ในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาให้แก่โจทก์ได้ไม่เป็นการเกินไปจากคำฟ้องหรือคำขอโจทก์ ได้ความว่า โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับจากวันรับหนังสือ และจำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือแล้วเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2550 ตามหนังสือทวงถามและใบตอบรับ จำเลยที่ 2 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดในวันที่ 8 กรกฎาคม 2550
อนึ่ง โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีและผลของคดีโจทก์ได้รับค่าเสียหายตามคำพิพากษาศาลฎีกาเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เพื่อความเป็นธรรมและเหมาะสมจึงเห็นสมควรกำหนดความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในศาลล่างทั้งสองใหม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายจากเงินที่โจทก์ถูกปรับจำนวน 1,800,000 บาท ด้วย พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสามศาลรวม 50,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1