แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อความที่ว่า “ไม่รวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน” ตามบทนิยามคำว่า “ลูกจ้าง” ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานและประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ นั้น เป็นข้อยกเว้น ต้องตีความโดยเคร่งครัด ดังนั้น ข้อความดังกล่าวจึงหมายถึงลูกจ้างที่ทำงานเฉพาะที่เป็นงานบ้านอย่างเดียวเท่านั้น โดยงานบ้านนั้นจะต้องมิได้มีลักษณะการประกอบธุรกิจอื่นใดรวมอยู่ด้วย
จำเลยเป็นบริษัทจำกัด ประกอบกิจการรับทำกรอบรูปส่งขายต่างประเทศมีลูกจ้างประมาณ 100 คน และ ล. เป็นผู้จัดการโรงงานของจำเลย จำเลยได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างในตำแหน่งแม่บ้าน มีหน้าที่ซักรีด ทำอาหาร และทำความสะอาดในบ้านพักของ ล. ดังนี้แม้สภาพงานที่โจทก์ทำจะเป็นงานบ้านก็ตาม แต่งานบ้านดังกล่าวจำเลยได้จัดเป็นสวัสดิการให้แก่ ล. ซึ่ง เป็นผู้จัดการโรงงานของจำเลยเอง งานบ้านที่โจทก์ทำจึงมีลักษณะการประกอบธุรกิจของจำเลยรวมอยู่ด้วย ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน โจทก์จึงได้รับความคุ้มครองตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และเรื่อง การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำมีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย ค่าจ้างส่วนที่จำเลยจ่ายต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรวมทั้งดอกเบี้ยและเงินเพิ่ม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๓๑ จำเลยได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างครั้งสุดท้ายทำหน้าที่ในตำแหน่งแม่บ้าน อัตราค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ ๑,๘๐๐ บาท ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๓๓ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้าแต่มีสาเหตุเพราะโจทก์ร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่แรงงาน เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และระหว่างทำงานกับจำเลย จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมค่าจ้างที่ขาดพร้อมเงินเพิ่มและดอกเบี้ย
จำเลยให้การต่อสู้คดี และว่าโจทก์เป็นลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน ไม่ได้รับความคุ้มครองตามประกาศกระทรวงมหาดไทย
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๒ ในประกาศนี้ “ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเป็นผู้รับค่าจ้างด้วยตนเองหรือไม่ก็ตาม… แต่ไม่รวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน ส่วนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ข้อ ๒ ในประกาศนี้ “ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง แต่ไม่รวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน จากนิยามนี้ความหมายเบื้องต้นของลูกจ้าง คือผู้ที่ตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง แต่ไม่รวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน สำหรับงานบ้านนั้นซึ่งโดยปกติทั่วไปก็ดูจากสภาพของงาน คือเป็นงานเกี่ยวกับการดูแลทำความสะอาดบ้านอยู่อาศัย เช่นทำครัว ซักผ้า รีดผ้า เป็นต้น แต่ข้อความที่ว่า “ไม่รวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน” นี้เป็นข้อยกเว้น ต้องตีความโดยเคร่งครัด จึงหมายถึงลูกจ้างที่ทำงานเฉพาะที่เป็นงานบ้านอย่างเดียวเท่านั้น โดยที่งานบ้านนั้นจะต้องมิได้มีลักษณะการประกอบธุรกิจอื่นใดรวมอยู่ด้วย แต่คดีนี้ได้ความตามที่าลแรงงานกลางวินิจฉัยมาแล้วว่า จำเลยเป็นบริษัทจำกัด ประกอบกิจการรับทำกรอบรูปส่งขายต่างประเทศ มีลูกจ้างประมาณ ๑๐๐ คน และนายลินเป็นผู้จัดการโรงงานของจำเลย จำเลยได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างในตำแหน่งแม่บ้าน มีหน้าที่ซักรีด ทำอาหาร และทำความสะอาดในบ้านพักของนายลิน ดังนี้ แม้สภาพงานที่โจทก์จะเป็นงานบ้านก็ตาม แต่งานบ้านดังกล่าวจำเลยได้จัดเป็นสวัสดิการให้แก่นายลินซึ่งเป็นผู้จัดการโรงงานของจำเลยเอง งานบ้านที่โจทก์ทำดังกล่าวจึงมีลักษณะการประกอบธุรกิจของจำเลยรวมอยู่ด้วยกรณีเช่นนี้ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้านตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และเรื่อง การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ฉะนั้น โจทก์จึงได้รับความคุ้มครองตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และเรื่องการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย ค่าจ้างที่จ่ายขาดไปรวมทั้งดอกเบี้ยและเงินเพิ่มตามฟ้อง แต่ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางยังไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยจะต้องรับผิดจ่ายให้โจทก์หรือไม่เพียงใด มีเหตุอันสมควรที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๔๓ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในประเด็นค่าชดเชยค่าจ้างที่จ่ายขาดไป ดอกเบี้ย และเงินเพิ่ม ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาคดีใหม่เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับค่าชดเชย ค่าจ้างที่จ่ายขาดไป ดอกเบี้ย และเงินเพิ่ม แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.