คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1938/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้บุตรโจทก์ถึงแก่ความตาย อันทำให้โจทก์ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายจำเลยก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะให้แก่โจทก์แม้ในขณะผู้ตายถึงแก่ความตายผู้ตายจะไม่มีรายได้อย่างใด และโจทก์ประกอบอาชีพมีรายได้อยู่ก็ตามและแม้โจทก์จะไม่ได้นำสืบว่าค่าสินไหมทดแทนสำหรับรายการนี้และสำหรับการฌาปนกิจศพผู้ตายมีจำนวนเท่าใดศาลก็มีอำนาจกำหนดให้ตามที่เห็นสมควร
จำเลยถูกฟ้องคดีอาญาในเรื่องเดียวกันนี้ และศาลพิพากษาลงโทษจำเลยจนคดีเด็ดขาดไปแล้ว คดีนี้จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 ประกอบด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา168

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้บุตรโจทก์ถึงแก่ความตายศาลชั้นต้นพิพากษาว่าคดีขาดอายุความ ให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าฌาปนกิจศพผู้ตายและค่าขาดไร้อุปการะให้แก่โจทก์รวม 35,000 บาทกับดอกเบี้ย จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2520 จำเลยขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้นายวัฒนะบุตรโจทก์ถึงแก่ความตาย เพราะจำเลยถูกฟ้องคดีอาญาในความผิดดังกล่าวศาลพิพากษาลงโทษจำเลยคดีเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว คดีจึงมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิได้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่าฌาปนกิจศพผู้ตายและค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยเพียงใดหรือไม่

สำหรับปัญหาเรื่องอายุความ เห็นว่า คดีนี้มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคสาม ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 168 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ส่วนค่าสินไหมทดแทนสำหรับรายการฌาปนกิจศพผู้ตายนั้นโจทก์มิได้นำสืบว่าได้จ่ายเงินไปเท่าใด จำเลยเป็นฝ่ายนำสืบว่าจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตลอดจนสวดศพราว 7,000 บาท ศาลเห็นว่าโจทก์ก็คงได้ออกบ้างและโจทก์มีภาระจะต้องจัดการฌาปนกิจศพที่ยังไม่ได้จัดการศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามที่เห็นสมควร ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้5,000 บาทนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว

ส่วนค่าสินไหมทดแทนสำหรับรายการค่าขาดไร้อุปการะนั้น เห็นว่าเมื่อฟังว่าจำเลยขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้บุตรโจทก์ถึงแก่ความตายย่อมทำให้โจทก์ขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะให้โจทก์ แม้ขณะผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้ตายไม่มีรายได้อย่างใดและโจทก์ประกอบอาชีพมีรายได้อยู่ก็ตาม และแม้คดีนี้โจทก์จะไม่ได้นำสืบว่าจำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับรายการนี้จำนวนเท่าใด ศาลก็มีอำนาจกำหนดให้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับรายการนี้เป็นเงิน 30,000 บาทนั้น เห็นว่าเหมาะสมแล้ว”

พิพากษายืน

Share