คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19357/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้บ้านที่เกิดเหตุเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของโจทก์ แต่ก็ยังเป็นที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านที่เกิดเหตุด้วย พื้นที่ส่วนที่เป็นที่ทำการผู้ใหญ่บ้านในเวลาราชการจึงไม่ใช่ที่รโหฐาน แต่เป็นที่สาธารณสถาน เพราะประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ และหากมีเหตุอันควรสงสัยว่าโจทก์มีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิดต่อกฎหมายเลือกตั้ง จำเลยทั้งสี่ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ด ให้เป็นเจ้าหน้าที่ป้องกันปราบปรามการทุจริตในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดร้อยเอ็ด ย่อมมีอำนาจเข้าค้น อีกทั้งจำเลยทั้งสี่เข้าไปค้นบ้านที่เกิดเหตุในเวลาประมาณ 11 นาฬิกา อันเป็นเวลาราชการ โดยไม่ปรากฏว่ามีการค้นเกินเลยจากพื้นที่ส่วนที่เป็นที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน เหตุที่จำเลยทั้งสี่เข้าไปค้นบ้านที่เกิดเหตุและค้นตัวโจทก์ก็เพราะมีเหตุอันควรสงสัยว่าโจทก์มีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิดต่อกฎหมายเลือกตั้ง จำเลยทั้งสี่จึงมีอำนาจกระทำเช่นว่านั้นได้ตาม ป.วิ.อ มาตรา 93

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 157, 309, 334, 335 (8), 362, 364, 365
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 365 (2) ประกอบมาตรา 364, 83 เป็นกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 10,000 บาท พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับจำเลยทั้งสี่ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน สมควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสี่ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสี่ว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำความผิดข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและบุกรุกตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 หรือไม่ เห็นว่า แม้บ้านที่เกิดเหตุเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของโจทก์ แต่ก็ยังเป็นที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านที่เกิดเหตุด้วย พื้นที่ส่วนที่เป็นที่ทำการผู้ใหญ่บ้านในเวลาราชการจึงไม่ใช่ที่รโหฐาน แต่เป็นที่สาธารณสถาน เพราะประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ และหากมีเหตุอันควรสงสัยว่าโจทก์มีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิดต่อกฎหมายเลือกตั้ง จำเลยทั้งสี่ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ด ให้เป็นเจ้าหน้าที่ป้องกันปราบปรามการทุจริตในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดร้อยเอ็ด ย่อมมีอำนาจเข้าค้น ทั้งข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์รับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสี่เข้าไปค้นบ้านที่เกิดเหตุในเวลาประมาณ 11 นาฬิกา อันเป็นเวลาราชการ โดยไม่ปรากฏว่ามีการค้นเกินเลยจากพื้นที่ส่วนที่เป็นที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นการค้นในที่สาธารณสถานซึ่งไม่จำเป็นต้องมีหมายค้น สำหรับพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบแม้จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ห้ามปรามมิให้นางเฉลิมศิริถ่ายรูป และเมื่อนายธวัชชัยใช้กล้องถ่ายภาพเคลื่อนไหวถ่ายภาพเหตุการณ์ จำเลยที่ 1 ก็เดินออกจากบ้านที่เกิดเหตุ แต่พฤติการณ์ดังกล่าวยังไม่มีเหตุผลพอจะบ่งชี้ให้เห็นได้ประจักษ์ชัดว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาเข้าไปค้นบ้านที่เกิดเหตุเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ ที่โจทก์นำสืบว่า วันเกิดเหตุเวลาเช้า โจทก์เผาทำลายเอกสารคำร้องเรียนเรื่องภัยแล้งของลูกบ้านซึ่งเป็นเอกสารที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้วนั้น เป็นข้อกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย เพราะไม่มีพยานหลักฐานอื่นมานำสืบสนับสนุนให้รับฟังได้ว่าโจทก์เคยได้รับคำร้องเรียนเรื่องภัยแล้งจากลูกบ้าน ที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์กับนายสานิต ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดร้อยเอ็ด สังกัดพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นคู่แข่งของนายอนุรักษ์ก็ดี หรือที่จำเลยที่ 3 เบิกความตอบทนายความของโจทก์ถามค้านตอนหนึ่งว่า เคยร่วมดื่มสุรากับบุตรชายของนายสานิตก็ดี นั้น ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายสานิต และความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 3 กับบุตรชายของนายสานิตดังกล่าวล้วนเป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยังไม่พอฟังว่าจะกลั่นแกล้งฝ่ายของนายอนุรักษ์ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 4 ข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าเคยมีความสัมพันธ์กับนายสานิตอันจะเป็นมูลเหตุจูงใจให้มีเจตนาสมคบกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 เข้าไปค้นบ้านที่เกิดเหตุเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ฝ่ายจำเลยทั้งสี่นำสืบปฏิเสธโดยมีจำเลยทั้งสี่เป็นพยานเบิกความประกอบกันเป็นใจความว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยทั้งสี่ได้เบาะแสจากสายลับว่ามีหัวคะแนนของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดร้อยเอ็ด ไปรวมตัวกันที่บ้านที่เกิดเหตุ จึงไปตรวจสอบ ปรากฏว่าพบโจทก์และชาวบ้านอีกหลายคน ชาวบ้านเหล่านั้นมีท่าทีตกใจ บางคนขยำเอกสารทิ้ง บางคนฉีกเอกสารทิ้ง ส่วนโจทก์เก็บเอกสารไว้ในกระด้งแล้วนำไปสอดไว้ที่ใต้ชายคา เมื่อนำมาตรวจสอบก็พบว่าเป็นบัญชีรายชื่อราษฎรตำบลหนองแวง และมีเลข 100 กำกับอยู่ จำเลยที่ 1 เชื่อว่าเป็นสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดต่อกฎหมายเลือกตั้ง จึงยึดไว้เพื่อเป็นพยานหลักฐาน แต่ขณะทำบันทึกการตรวจยึดปรากฏว่ามีนายยิ่งสันต์ นายคมกริช นายเมธาสิทธิ์ และนางเฉลิมศิริ ไปที่บ้านที่เกิดเหตุ นายยิ่งสันต์และนายคมกริชโต้เถียงกับจำเลยทั้งสี่ ส่วนนายเมธาสิทธิ์บอกให้นางเฉลิมศิริถ่ายรูปจำเลยทั้งสี่ จำเลยที่ 1 ยกแผ่นกระดาษที่ใช้สำหรับทำบันทึกการตรวจยึดขึ้นปิดบังใบหน้า แต่ไม่ได้ทำท่าจะแย่งกล้องถ่ายรูป ระหว่างนั้นนายยิ่งสันต์หยิบเอกสารที่ถูกตรวจยึดไปดูแล้วส่งให้แก่นายคมกริชพร้อมทั้งพูดว่าให้นำไปทำลาย นายคมกริชส่งต่อให้แก่โจทก์พร้อมทั้งพูดว่าให้นำไปเผาไฟ โจทก์จึงนำเอกสารดังกล่าวไปเผาทำลาย นอกจากนี้จำเลยทั้งสี่ยังมีร้อยตำรวจตรีอดุลย์ เป็นพยานเบิกความเป็นใจความว่า เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2548 คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งแต่งตั้งพยานเป็นเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนหาข่าวในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดร้อยเอ็ด ตามสำเนาคำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง วันเกิดเหตุ เวลา 11 นาฬิกาเศษ พยานกับพวกได้รับแจ้งเบาะแสว่ามีการกระทำความผิดต่อกฎหมายเลือกตั้งที่บ้านที่เกิดเหตุ จึงไปตรวจสอบ พบจำเลยทั้งสี่กับราษฎรอีก 2 ถึง 3 คน โดยจำเลยที่ 1 กำลังทำบันทึกการตรวจยึดเอกสาร เมื่อตรวจสอบเอกสารที่ถูกตรวจยึดก็พบว่าเป็นสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน รวมทั้งเอกสารซึ่งมีการตีตารางแล้วเขียนชื่อนามสกุลของราษฎรและหมายเลข 100 ระหว่างนั้นปรากฏว่ามีนายคมกริชและนายยิ่งสันต์กับพวกไปที่บ้านที่เกิดเหตุแล้วกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสี่รังแกราษฎร พยานเห็นการโต้เถียงรุนแรงจึงเดินไปยังรถยนต์ที่ใช้เป็นยานพาหนะ แต่ยังเห็นนายยิ่งสันต์แย่งเอาเอกสารจากจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 3 บอกแก่พยานว่าเอกสารดังกล่าวถูกทำลาย เมื่อเดินย้อนไปดูเหตุการณ์ภายในบ้านที่เกิดเหตุพบเถ้าเอกสารถูกไฟเผาในเตาไฟ หลังจากนั้นมีเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองร้อยเอ็ดไปที่บ้านที่เกิดเหตุแล้วยึดเถ้าเอกสารดังกล่าวไปเพื่อเป็นพยานหลักฐาน คำเบิกความของจำเลยทั้งสี่และร้อยตำรวจตรีอดุลย์ตามที่กล่าวมามีความสอดคล้องเชื่อมโยงกันโดยปราศจากข้อพิรุธที่จะส่อว่าเป็นการสมคบกันปรุงแต่งข้อเท็จจริงเพื่อแก้ข้อกล่าวหาของโจทก์ โดยเฉพาะร้อยตำรวจตรีอดุลย์ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ในชุดเดียวกับจำเลยทั้งสี่ จึงไม่มีความสงสัยว่าจะเบิกความอันเป็นเท็จเพื่อช่วยให้จำเลยทั้งสี่พ้นจากความผิด อีกทั้งข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของจำเลยทั้งสี่ยังรับฟังได้ว่าเถ้าเอกสารที่โจทก์เผาทำลายปรากฏร่องรอยของชิ้นส่วนบัตรประจำตัวประชาชน ตามสำเนารายงานการตรวจพิสูจน์ นอกจากนี้ พฤติการณ์ที่นายคมกริชและนายยิ่งสันต์แสดงอาการปกป้องโจทก์อย่างออกนอกหน้าก็ยังบ่งชี้ว่าโจทก์เป็นพวกของนายอนุรักษ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดร้อยเอ็ด สังกัดพรรคชาติไทย พยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสี่นำสืบจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า เหตุที่จำเลยทั้งสี่เข้าไปค้นบ้านที่เกิดเหตุและค้นตัวโจทก์ก็เพราะมีเหตุอันควรสงสัยว่าโจทก์มีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิดต่อกฎหมายเลือกตั้ง จำเลยทั้งสี่จึงมีอำนาจกระทำเช่นว่านั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 93 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและบุกรุกตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสี่ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและบุกรุกเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share