คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5891/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลฎีกาไม่รับคดีของจำเลยที่ 1 ไว้พิจารณาพิพากษา และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความศาลฎีกา สืบเนื่องจากศาลฎีกาเห็นว่าฎีกาของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 219 วรรคสอง กับพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง และระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ว่าด้วยการไม่รับคดีซึ่งข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่อุทธรณ์หรือฎีกาจะไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณาไว้พิจารณาพิพากษา พ.ศ.2551 ข้อ 3 จึงเป็นกรณีที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยคดีของจำเลยที่ 1 แล้ว แต่เห็นว่าฎีกาของจำเลยที่ 1 ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงผลตามคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสอง จึงออกคำพิพากษาในรูปของคำสั่งตามบทบัญญัติและระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้น เท่ากับศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีสำหรับจำเลยที่ 1 แล้ว ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลฎีกาให้จำเลยที่ 1 ฟังเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2555 คดีของจำเลยที่ 1 จึงถึงที่สุดในวันดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้แก่จำเลยที่ 1 โดยระบุว่าคดีถึงที่สุดวันที่ 21 ธันวาคม 2555 จึงชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง (เดิม), 310 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83, 339 วรรคแรก การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นและฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ให้ลงโทษฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 15 ปี ฐานชิงทรัพย์ จำคุก 5 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 965/2551 ของศาลจังหวัดมีนบุรี ให้จำเลยที่ 1 คืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 10,900 บาท แก่ผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลฎีกาให้จำหน่ายคดีของจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความของศาลฎีกา โดยศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลฎีกาให้จำเลยที่ 1 ฟังวันที่ 21 ธันวาคม 2555
วันที่ 25 ธันวาคม 2555 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดมีผลย้อนหลังไปในวันที่ 24 มิถุนายน 2554 ที่คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า มีเหตุที่จะแก้ไขหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลฎีกาไม่รับคดีของจำเลยที่ 1 ไว้พิจารณาพิพากษา และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความศาลฎีกา สืบเนื่องจากศาลฎีกาเห็นว่าฎีกาของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 219 วรรคสอง กับพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง และระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ว่าด้วยการไม่รับคดีซึ่งข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่อุทธรณ์หรือฎีกาจะไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณาไว้พิจารณาพิพากษา พ.ศ.2551 ข้อ 3 จึงเป็นกรณีที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยคดีของจำเลยที่ 1 แล้ว แต่เห็นว่าฎีกาของจำเลยที่ 1 ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงผลตามคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสอง จึงออกคำพิพากษาในรูปของคำสั่งตามบทบัญญัติและระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้น เท่ากับศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีสำหรับจำเลยที่ 1 แล้ว เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 ซึ่งนำมาใช้แก่คดีอาญาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ในวรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ซึ่งตามกฎหมายจะอุทธรณ์หรือฎีกาหรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ไม่ได้นั้น ให้ถือว่าถึงที่สุดตั้งแต่วันที่ได้อ่านเป็นต้นไป” คดีนี้ ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลฎีกาให้จำเลยที่ 1 ฟังเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2555 คดีของจำเลยที่ 1 จึงถึงที่สุดในวันดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้แก่จำเลยที่ 1 โดยระบุว่าคดีถึงที่สุดวันที่ 21 ธันวาคม 2555 จึงชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่จะแก้ไขหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้แก่จำเลยที่ 1 ใหม่ตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดโดยให้เริ่มนับโทษตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2551 นั้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้กล่าวอ้างในคำร้องฉบับลงวันที่ 25 ธันวาคม 2555 จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share