คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1935/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินของโจทก์ที่ 6 ถึงที่ 13 ทั้ง 4 แปลงอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งปัจจุบันยังมีการใช้สัญจรตามปกติจึงเป็นทางสาธารณะ ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่เป็นที่ดินที่มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง
บ้านบางหลังของฝ่ายโจทก์เป็นบ้านยกพื้น อยู่สูงกว่าระดับน้ำในแม่น้ำประมาณ 70 เซนติเมตร แสดงให้เห็นว่า ระดับน้ำในแม่น้ำกับริมตลิ่งย่อมจะน้อยกว่า 70 เซนติเมตร กรณีไม่ถือว่าเป็นที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะอยู่สูงกว่ากันมากตามความหมายของมาตรา 1349 วรรคสอง
เมื่อที่ดินของโจทก์ที่ 6 ถึงที่ 13 ทั้ง 4 แปลงอยู่ติดทางสาธารณะแม้ฝ่ายโจทก์ไม่ได้ใช้ทางสาธารณะนี้สัญจรไปมาเป็นเวลานานแล้วก็ไม่ทำให้โจทก์ทั้งสิบสามมีสิทธิที่จะใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งเจ็ดโดยอ้างว่าเป็นทางจำเป็นได้
ที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 และโจทก์ที่ 8 ถึงที่ 13 แปลงอื่น ซึ่งไม่ได้ติดทางสาธารณะโดยตรงนั้น เป็นที่ดินแบ่งแยกมาจากที่ดินที่ติดทางสาธารณะหากโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 และโจทก์ที่ 8 ถึงที่ 13 จะเรียกร้องเอาทาง ก็ต้องเรียกร้องเอาจากที่ดินแปลงเดิมที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกัน ไม่อาจที่จะเรียกร้องขอใช้ทางพิพาทได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสิบสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสิบสามเข้าออกสู่ซอยจรัญสนิทวงศ์ 94 อันเป็นถนนสาธารณะโดยผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 40377 ตำบลบางอ้อ อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ทางทิศตะวันตกซึ่งมีนายสันต์นิลพานิช เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และเดินผ่านที่ดินของจำเลยทั้งเจ็ด ที่ดินของโจทก์ทั้งสิบสามอยู่บริเวณเดียวกันและมีแนวเขตติดต่อกันมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่ทุกด้าน ไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะ เว้นแต่จะใช้เส้นทางผ่านที่ดินของจำเลยทั้งเจ็ดทางด้านทิศตะวันตกผ่านออกสู่ซอยจรัญสนิทวงศ์ 94โจทก์ทั้งสิบสามและจำเลยทั้งเจ็ดตกลงร่วมกันทำถนนพิพาทจากแยกซอยจรัญสนิทวงศ์ 94 โดยตัดผ่านที่ดินของจำเลยทั้งเจ็ดกว้าง 4 เมตร และยาว 90 เมตร โจทก์ทั้งสิบสามใช้ถนนดังกล่าวผ่านเข้าออกสู่ถนนสาธารณะนับแต่ปี 2531 จนกระทั่งเดือนเมษายน 2540 จำเลยทั้งเจ็ดปิดกั้นทางพิพาทโดยฝังเสาทำไม้กระดกให้ยามรักษาการณ์ตรวจตราห้ามรถยนต์ผ่านเข้าออกบริเวณทางพิพาท เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสิบสามและบริวารไม่สามารถสัญจรผ่านเข้าออกได้ตามปกติ ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดรื้อถอนสิ่งกีดขวางทางพิพาทยกเลิกเวรยามที่คอยห้ามยานพาหนะเข้าออกทางพิพาท หากจำเลยทั้งเจ็ดไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษาสั่งให้โจทก์ทั้งสิบสามมีอำนาจให้บุคคลอื่นทำการรื้อถอน โดยจำเลยทั้งเจ็ดเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ให้จำเลยทั้งเจ็ดจดทะเบียนทางพิพาทเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสิบสาม หากจำเลยทั้งเจ็ดไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งเจ็ด

จำเลยทั้งเจ็ดให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยทั้งเจ็ดไม่เคยตกลงร่วมกันทำถนนเพื่อให้โจทก์ทั้งสิบสามและบริวารผ่านไปออกทางสาธารณะที่ดินของโจทก์ทั้งสิบสามด้านทิศตะวันออกมีแนวเขตจรดแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นทางสาธารณะ ทางพิพาทจึงไม่เข้าลักษณะทางจำเป็น หากโจทก์ทั้งสิบสามและบริวารใช้ทางพิพาทผ่านเข้าออก ทางพิพาทต้องรับภาระเพิ่มขึ้นจำเลยทั้งเจ็ดขอเรียกร้องค่าเสียหายเป็นค่าทดแทนปีละ 80,000 บาท ตลอดไปจนกว่าโจทก์ทั้งสิบสามและบริวารหมดความจำเป็นใช้ทางพิพาทและให้ชดใช้ค่าทดแทนในการใช้ที่ดินเป็นเงินทั้งสิ้น 2,500,000 บาท

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ทั้งสิบสามและบริวารมีสิทธิใช้ทางพิพาทกว้าง 4 เมตร ยาว 90 เมตร ซึ่งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 148603 เลขที่ 148604เลขที่ 148605 เลขที่ 148606 เลขที่ 3490 เลขที่ 3491 และเลขที่ 116659ตำบลบางอ้อ อำเภอบางพลัด กรุงเทพมหานคร ห้ามมิให้จำเลยทั้งเจ็ดขัดขวางอีกไม่ว่าด้วยประการใด คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ทั้งสิบสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,000,000 บาท เป็นค่าทดแทนการใช้ทางพิพาทในฐานะทางจำเป็นแก่จำเลยทั้งเจ็ดด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ทั้งสิบสามและจำเลยทั้งเจ็ดฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า โจทก์ทั้งสิบสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนดหลายแปลงอาณาเขตติดต่อเป็นผืนเดียวกัน เฉพาะด้านทิศตะวันออกของที่ดินดังกล่าวติดแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนทางพิพาทอยู่ในที่ดินมีโฉนดหลายแปลงของจำเลยทั้งเจ็ด มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นประการแรกว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสิบสามหรือไม่ ประเด็นนี้โจทก์ทั้งสิบสามอ้างว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสิบสามตกอยู่ในที่ล้อมของที่ดินแปลงอื่นจนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ ได้ความจากคำรับของคู่ความทั้งสองฝ่ายตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 15 กันยายน 2541ว่า เดิมที่ดินของโจทก์ทั้งสิบสามเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน คือที่ดินโฉนดเลขที่ 3497 ต่อมาได้มีการแบ่งแยกเป็นแปลงย่อยหลายแปลง โดยมีที่ดินโฉนดเลขที่ 181 ของโจทก์ที่ 13 เลขที่ 116740 ของโจทก์ที่ 7 เลขที่ 116741ของโจทก์ที่ 6 และเลขที่ 39353 ของโจทก์ที่ 8 ถึงที่ 13 ทางด้านทิศตะวันออกอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า ปัจจุบันยังมีการใช้แม่น้ำเจ้าพระยาสัญจรไปมาตามปกติ จึงถือว่าแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นทางสาธารณะการที่ที่ดินของโจทก์ที่ 6 ถึงที่ 13 ทั้ง 4 แปลง อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นทางสาธารณะเช่นนี้ จึงไม่เป็นที่ดินที่มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349วรรคหนึ่ง ส่วนที่ปรากฏจากรายงานการเผชิญสืบของศาลว่าบ้านบางหลังของฝ่ายโจทก์คือบ้านเลขที่ 29/27 ซึ่งเป็นพื้นไม้อยู่สูงจากระดับแม่น้ำประมาณ 70 เซนติเมตร จะถือว่าเป็นกรณีที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะอยู่สูงกว่ากันมากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสองอันจะทำให้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นทางจำเป็นหรือไม่นั้น เห็นว่าจากรายงานการเดินเผชิญสืบของศาล แสดงให้เห็นว่าบ้านดังกล่าวเป็นบ้านยกพื้น ดังนั้น ระดับน้ำในแม่น้ำกับริมตลิ่งย่อมจะน้อยกว่า 70 เซนติเมตรกรณีไม่ถือว่าเป็นที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะอยู่สูงกว่ากันมากตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสองเมื่อที่ดินของโจทก์ที่ 6 ถึงที่ 13 ทั้ง 4 แปลง อยู่ติดทางสาธารณะ แม้จะอ้างว่าฝ่ายโจทก์ไม่ได้ใช้ทางสาธารณะนี้สัญจรไปมาเป็นเวลานานแล้ว ก็ไม่ทำให้โจทก์ทั้งสิบสามมีสิทธิที่จะใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งเจ็ดโดยอ้างว่าเป็นทางจำเป็นได้ ส่วนที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 และโจทก์ที่ 8 ถึงที่ 13แปลงอื่น ซึ่งไม่ได้ติดตามทางสาธารณะโดยตรงนั้น เป็นที่ดินที่แบ่งแยกมาจากที่ดินแปลงที่ติดทางสาธารณะ หากโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 และโจทก์ที่ 8ถึงที่ 13 จะเรียกร้องเอาทางก็ต้องเรียกร้องเอาจากที่ดินแปลงเดิมที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันไม่อาจที่จะเรียกร้องขอใช้ทางพิพาทได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งเจ็ดฟังขึ้นและกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ทั้งสิบสามที่ว่าโจทก์ทั้งสิบสามจะต้องใช้ค่าทดแทนหรือไม่เพียงใด”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share