คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1932/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยบุกรุกเข้าครอบครองที่พิพาทโดยรู้ว่าเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่พลเมืองใช้ร่วมกัน มีความผิดตามป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96ข้อ 11 ส่วนความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362,365 กฎหมายมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้ที่บุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเท่านั้นไม่ใช่บทบัญญัติที่จะลงโทษผู้บุกรุกที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปสร้างบ้านอยู่อาศัยในที่ดินสาธารณประโยชน์ “หนองผูกเต่า” อันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน เพื่อยึดการครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365(3) ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9, 108 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ข้อ 11 ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินแปลงดังกล่าว
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362, 365(3) ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 148 ทวิ (ที่ถูก180 ทวิ) ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(3) ซึ่งเปแ็นบทหนัก จำคุก 3 เดือน ปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกรอไว้ 2 ปี ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่พิพาทซึ่งจำเลยครอบครองเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินคดีมีปัญหาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ในเบื้องต้นเห็นควรวินิจฉัยว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ก่อนพยานโจทก์ต่างเบิกความต้องกันว่าที่พิพาทซึ่งจำเลยครอบครองอยู่เป็นส่วนหนึ่งของที่สาธารณประโยชน์หนองผูกเต่า โดยเป็นที่ดินแปลงด้านทิศเหนือของถนนสุวรรณศร ตามแผนที่พิพาท ได้ความว่า เมื่อเจ้าพนักงานศาลไปทำแผนที่พิพาท ทั้งโจทก์และจำเลยต่างนำชี้ต้องกันว่า ที่ดินแปลงด้านทิศเหนือและแปลงด้านทิศใต้ตามแผนที่พิพาทต่างเป็นที่สาธารณประโยชน์หนองผูกเต่าด้วยกัน มีรายละเอียดตามบันทึกการนำชี้ทำแผนที่ฉบับลงวันที่ 20 มกราคม 2529 และรายงานเจ้าหน้าที่ฉบับลงวันที่ 21 มกราคม 2529 จำเลยไม่ได้นำสืบโต้เถียงบันทึกและรายงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเป็นอย่างอื่น ดังนี้ ที่จำเลยนำชี้ในการทำแผนที่พิพาทไว้ดังกล่าวนอกจากจะเท่ากับจำเลยยอมรับตั้งแต่ตอนทำแผนที่พิพาทแล้วว่า ที่ดินตามแผนที่พิพาททั้งสองแปลงเป็นที่สาธารณประโยชน์หนองผูกเต่าแล้ว ยังเจือสมกับที่พิยานโจทก์เบิกความว่า ที่พิพาทซึ่งจำเลยครอบครองอยู่ คือที่ดินแปลงด้านทิศเหนือตามแผนที่พิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่สาธารณประโยชน์หนองผูกเต่าด้วย ดังนั้น ที่จำเลยเบิกความว่า ที่สาธารณประโยชน์หนองผูกเต่าคือที่ดินแปลงด้านทิศใต้ ส่วนที่ดินแปลงด้านทิศเหนือตามแผนที่พิพาทเป็นที่ดินที่จำเลยจับจองไว้ จึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะหักล้างพยานโจทก์ได้ กรณีฟังได้ว่าที่พิพาทซึ่งจำเลยครอบครองคือที่ดินแปลงด้านทิศเหนือเป็นส่วนหนึ่งของที่สาธารณประโยชน์หนองผูกเต่าซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินพยานโจทก์คือนายโกวิทย์ จองสกุล ซึ่งเป็นกำนันเบิกความว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินที่ประชาชนใช้เลี้ยงสัตว์ร่วมกัน เมื่อจำเลยบุกรุกเข้ามาครอบครองได้บอกให้จำเลยออกไปจากที่พิพาทหลายครั้งแต่จำเลยขัดขืน ในที่สุดจึงได้ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ นายดาบตำรวจกล้า ปูผ้าพยานโจทก์ผู้จับกุมจำเลยเบิกความว่า เมื่อจับกุมจำเลยได้แจ้งข้อหาว่าบุกรุกที่สาธารณะ จำเลยให้การรับสารภาพโดยโจทก์มีบันทึกการจับกุมซึ่งระบุว่าจำเลยให้การรับสารภาพเป็นพยานสนับสนุนที่จำเลยเบิกความว่าไม่ได้รับสารภาพมีแต่คำเบิกความของจำเลยปากเดียวลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักพอที่จะหักล้างพยานโจทก์ คดีฟังได้ว่าจำเลยบุกรุกเข้าครอบครองที่พิพาทโดยรู้ว่าเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่พลเมืองใช้ร่วมกัน จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108ทวิ วรรคสอง ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ข้อ 11 ส่วนความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365 น้น เมื่อได้ความว่าที่เกิดเหตุเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน หาใช่ที่ที่มีเอกชนเป็นเจ้าของไม่ จึงลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานนี้ไม่ได้ เพราะความผิดในฐานดังกล่าวกฎหมายมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้ที่บุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญัติที่จะลงโทษผู้บุกรุกที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินแต่อย่างใด…”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 108 ทวิ วรรคสอง ประกาสของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ข้อ 11วางโทษจำคุก 3 เดือน ปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share