แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยจ้างโจทก์เป็นไปตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำหนด โดยเฉพาะเงื่อนไขข้อที่ไม่ให้ช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในประเทศไทยไปประกอบอาชีพหรือหน้าที่อื่นใดเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน แต่ให้บุคคลดังกล่าวถ่ายทอดความรู้และฝึกสอนช่างภายในประเทศให้สามารถรับช่วงงานได้ รวมทั้งการอนุมัติตำแหน่งและกำหนดระยะเวลาการทำงานของคนต่างด้าวต้องผ่านมติของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนด้วย เงื่อนไขและขั้นตอนดังกล่าวเป็นเรื่องที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำหนดไว้ให้จำเลยปฏิบัติตามในกรณีที่จำเลยรับช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการที่เป็นคนต่างด้าวเช่นโจทก์ไว้ปฏิบัติงานในกิจการของจำเลย ซึ่งไม่ปรากฏว่าในการที่จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งหัวหน้าครัวโดยมีหน้าที่จัดการและดำเนินการเกี่ยวกับครัวของโรงแรมจำเลยตลอดมานั้น เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขหรือมติของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแต่อย่างใด หรือคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีอำนาจหน้าที่เข้าไปบริหารกิจการของจำเลยอย่างไร นิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยและโจทก์คงเป็นไปตามสัญญา ซึ่งระบุว่าเป็นสัญญาจ้างแรงงาน อันสอดคล้องกับข้อความในสัญญาที่มีการระบุไว้ชัดเจนต้องตามบทบัญญัติ ป.พ.พ.ลักษณะจ้างแรงงาน เช่นว่า โจทก์ต้องปฏิบัติตามคำสั่งและคำแนะนำของคณะกรรมการบริหารของโรงแรม หากโจทก์ทุจริต ไม่ประพฤติตามคำบังคับบัญชา ประพฤติตัวต่ำทรามผิดกฎระเบียบตามกฎหมายไทยอย่างร้ายแรงหรือกระทำการขัดแย้งต่อผลประโยชน์และภาพพจน์ต่อสาธารณชนของจำเลยจำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ เป็นต้น โจทก์จึงเป็นลูกจ้างของจำเลย
แม้ตามสัญญาเอกสารหมาย ล.6 จะระบุให้คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจบอกเลิกสัญญาได้โดยการแจ้งให้อีกฝ่ายทราบล่วงหน้าก็ตาม แต่มิได้ระบุว่าให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลงเมื่อใด ทั้งการที่โจทก์อยู่ปฏิบัติงานให้แก่จำเลยครบตามกำหนดที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนอนุมัติเป็นคราว ๆ ไปนั้น หาทำให้สัญญาจ้างแรงงานที่โจทก์จำเลยมีต่อกันสิ้นสุดลงไปด้วยไม่ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยยังคงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
ตามสัญญาจ้างให้สิทธิแก่จำเลยที่จะเลิกจ้างโจทก์โดยการบอกกล่าวล่วงหน้าได้ โดยเฉพาะสัญญาจ้าง ข้อ 6 มีข้อความว่า “ระยะเวลาของสัญญานี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2533 จนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาโดยคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด โดยแจ้งให้อีกฝ่ายทราบล่วงหน้า 80 วัน” สัญญาข้อนี้ให้สิทธิแก่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่จะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งได้ตามที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการ โดยไม่จำต้องแสดงเหตุผลแห่งการเลิกจ้างแต่อย่างใดในเมื่อปฏิบัติครบถ้วนตามสัญญาแล้ว การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม