คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1930/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยหลอกลวงผู้เสียหาย 7 คนในคราวเดียวกัน แม้ผู้เสียหายแต่ละคนจะมอบเงินให้แก่จำเลยคนละคราวกันก็เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายบทเดียว ไม่ใช่เป็นการกระทำความผิดหลายกรรม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341, 343พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 มาตรา 7, 27 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินจำนวน 152,000 บาท แก่ผู้เสียหายและให้นับโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 11606/2526 หมายเลขแดงที่ 27587/2527 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 11606/2526 ของศาลชั้นต้นจริง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343, 83 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 มาตรา 7 ซึ่งเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษ ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน 7 กระทง ปรับจำเลยที่1 กระทงละ 2,000 บาท รวมเป็นเงิน 14,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2กระทงละ 1 ปี รวมเป็นโทษจำคุก 7 ปี ความผิดฐานจัดหางานโดยเรียกหรือรับค่าบริการโดยมิได้รับอนุญาต ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 1,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 เดือน รวมโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 15,000 บาทและจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 7 ปี 1เดือน คำเบิกความของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ 1 ใน 5 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 12,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 5 ปี 8 เดือน นับโทษของจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 27587/2527 ของศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 142,000 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 นั้นให้ลงโทษจำเลยทั้งสองกระทงเดียว เมื่อรวมกับโทษฐานจัดหางานโดยเรียกหรือรับค่าบริการโดยมิได้รับอนุญาตแล้ว เป็นโทษปรับจำเลยที่ 1เป็นเงิน 3,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 1 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในห้าตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว คงลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 2,400 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 เดือน 12 วันนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาให้ลงโทษจำเลย 7 กระทง ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้ว่า ความผิดของจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 เป็นความผิดกระทงเดียว แต่ก็ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโจทก์ฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายและในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 โจทก์ฎีกามาทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาคงรับวินิจฉัยให้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาว่าจำเลยที่ 2 พูดจาหลอกลวงผู้เสียหายทั้ง 7 คน พร้อมกันในคราวเดียวกัน เพียงแต่ผู้เสียหายแต่ละคนนำเงินไปให้จำเลยคนละคราวกัน ศาลอุทธรณ์จึงเห็นว่า จำเลยกระทำความผิดกรรมเดียว โจทก์ฎีกาว่า ความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งเป็นหลักของมาตรา 343 มีองค์ประกอบของความผิดว่า โดยการหลอกลวงดังว่านั้น เป็นเหตุให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง ความผิดตามกฎหมายดังกล่าวจะสำเร็จได้ต่อเมื่อผู้ถูกหลอกลวงส่งมอบทรัพย์ให้จำเลย ซึ่งการรับเงินต่างๆ ของผู้เสียหายทั้ง7 คน ในคดีนี้ต่างวันเวลากัน จึงเป็นคนละกรรมต่างกัน ศาลฎีกาเห็นว่าองค์ประกอบของความผิดฐานฉ้อโกงหรือฉ้อโกงประชาชนเริ่มต้นด้วยการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง ส่วนการที่ผู้ถูกหลอกลวงหลงเชื่อ นำทรัพย์สินมาให้ หรือยอมทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิเป็นผลที่ตามมาจากการที่ถูกหลอกลวง ความสำคัญของการกระทำผิดจึงอยู่ที่การหลอกลวงเมื่อจำเลยที่ 2 หลอกลวงผู้เสียหายทั้ง 7 คน พร้อมกันในคราวเดียว แม้ผู้เสียหายแต่ละคนจะมอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสองคนละคราวกัน ก็ย่อมเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายบทเดียว หาใช่เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันดังโจทก์ฎีกาไม่ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นการกระทำครั้งเดียวผิดกรรมเดียว จึงชอบแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 โดยไม่ระบุวรรคใดนั้น เห็นสมควรระบุเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 วรรคแรก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share