แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร้องและลงชื่อท้ายคำร้องเพียงผู้เดียวเท่านั้น คำร้องดังกล่าวจึงเป็นคำร้องของจำเลยที่ 1โดยเฉพาะ จะแปลความว่าจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ด้วยหาได้ไม่ ทั้งการที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เข้าใจผิดคิดว่าการที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์หมายถึงจำเลยทุกคนนั้น ก็มิใช่เหตุสุดวิสัย เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มิได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ก่อนสิ้นระยะเวลาตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด และเหตุที่อ้างก็มิใช่เหตุสุดวิสัยอันจะมีคำขอภายหลังสิ้นกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 กรณีจึงไม่มีเหตุจะขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่8826 และเลขที่ 9219 ตำบลหนองแค (นาเริ่ง) อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 5 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุพจน์ ต.วรพานิช กับจำเลยที่ 3 ที่ 4 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2540 แล้วให้จำเลยที่ 1 ที่ 5 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุพจน์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 14 ตารางวา ภายในเส้นสีเขียวของแผนที่วิวาทหมาย จ.ล.1 ให้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายนพดลต.วรพานิช หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษานี้แทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และหากยังไม่สามารถโอนที่ดินบริเวณดังกล่าวให้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายนพดลได้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 5 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุพจน์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันใช้ราคา 32,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายนพดลแทนต่อไป คำขออื่นให้ยก
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2544 จำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องว่า ตามที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องลงวันที่ 23 มกราคม 2544 ขอถอนทนายความและขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ศาลได้อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ถอนทนายความเพียงคนเดียวเนื่องจากจำเลยที่ 1 ลงชื่อในคำร้องเพียงคนเดียวและอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์2544 แต่จำเลยที่ 1 เข้าใจผิดว่าศาลอนุญาตขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้ทั้งห้าคนจึงขอให้ศาลอนุญาตให้จำเลยทั้งห้าขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ถึงวันที่ 5 มีนาคม 2544ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่ากรณีมิใช่เหตุสุดวิสัยที่จะทำให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ยื่นคำร้องขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้หลังจากสิ้นระยะเวลาแล้วจึงไม่อนุญาต วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544จำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องอีกว่า เป็นความเข้าใจผิดของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกรวม5 คน หมายความรวมถึงจำเลยทั้งห้าคนแต่ลงชื่อในคำร้องเพียงคนเดียวได้ขออนุญาตให้จำเลยอื่นอีก 4 คน ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปถึงวันที่ 5 มีนาคม 2544ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าพฤติการณ์ตามคำร้องมิใช่เหตุสุดวิสัยดังที่มีคำสั่งไปแล้ว ทั้งจำเลยที่ 1 จะยื่นคำร้องแทนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ก็มิได้ จึงให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ว่ามีเหตุที่จะขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 หรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฎีกาว่าการที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 23 มกราคม 2544โดยที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มิได้ลงชื่อด้วยเป็นการสำคัญผิดว่าจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แทนจำเลยทุกคนเป็นเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 แล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 23 มกราคม 2544 นั้น จำเลยที่ 1 ระบุชื่อจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวเป็นผู้ร้องและได้ลงชื่อท้ายคำร้องเพียงผู้เดียวเช่นกัน เห็นได้ชัดว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำร้องของจำเลยที่ 1 โดยเฉพาะ จะแปลความว่าจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ด้วยหาได้ไม่ ทั้งการที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เข้าใจผิดคิดว่าจำเลยที่ 1 แจ้งว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์หมายถึงจำเลยทุกคนด้วยนั้นก็มิใช่เหตุสุดวิสัยดังที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฎีกา เมื่อจำเลยที่ 2ถึงที่ 5 มิได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ก่อนสิ้นระยะเวลาตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด และเหตุที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อ้างก็มิใช่กรณีมีเหตุสุดวิสัยอันจะมีคำขอภายหลังสิ้นกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน