คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1925/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 86 ให้เวนคืนที่ดินของผู้ร้องเพื่อประโยชน์ของทางราชการกรมชลประทาน และกำหนดค่าทดแทนให้ราคาไร่ละ 2,000 บาท ผู้ร้องปฏิเสธเพราะราคาไม่เป็นธรรม จึงมีการตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นชี้ขาดราคา อนุญาโตตุลาการของทางฝ่ายกรมชลประทานและฝ่ายผู้ร้องมีความเห็นไม่ตรงกันได้ตกลงตั้งประธานอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดโดยให้ฝ่ายผู้ร้องร้องขอต่อศาลให้ตั้ง อ. เป็นประธานอนุญาโตตุลาการ ศาลไต่สวนแล้วมีคำสั่งตั้ง อ.เป็นประธานอนุญาโตตุลาการ ต่อมา อ.ทำคำชี้ขาดว่าราคาที่ดินที่เป็นธรรมควรกำหนดราคาไร่ละ 68,000 บาท และยื่นคำชี้ขาดต่อศาลทางฝ่ายกรมชลประทานไม่ยอมปฏิบัติตาม จึงขอให้ศาลพิพากษาตามคำชี้ขาดดังกล่าว ดังนี้กรณีตามคำร้องเป็นการเสนอข้อพิพาทในการกำหนดค่าทดแทนให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดเรื่องราคาที่ดินนอกศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 221 ข้อที่อนุญาโตตุลาการลงมติให้ผู้ร้องร้องขอแต่งตั้ง อ.เป็นประธานอนุญาโตตุลาการและศาลมีคำสั่งแต่งตั้ง อ.ไปตามคำร้องแล้วนั้นเป็นเพียงข้อตกลงของคู่กรณีว่า ให้ไปดำเนินการทางศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้ง อ.เท่านั้น หาใช่เป็นการตั้งอนุญาโตตุลาการในศาลไม่เพราะไม่มีคดีอันเป็นข้อพิพาทในเรื่องดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลตามมาตรา 220 เหตุนี้การที่ อ.ได้ทำคำชี้ขาดกำหนดราคาที่ดินยื่นต่อศาลก็หาเป็นการชี้ขาดที่ต้องให้ศาลพิพากษาตามที่บังคับไว้ในมาตรา 218 วรรคสองไม่
มาตรา 221 ที่ให้ยื่นคำร้องขอต่อศาล ก็เพื่อแสดงว่าผู้ยื่นมีสิทธิตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ แต่คดีเรื่องนี้ผู้ร้องมีคำขอให้บังคับกรมชลประทานปฏิบัติตามคำพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเข้ามาด้วย จึงเป็นคดีที่มีจำเลย เรียกว่าคดีมีข้อพิพาท ผู้ร้องจึงต้องเสนอคดีต่อศาลโดยทำเป็นคำฟ้อง

ย่อยาว

ผู้ร้องทั้งสี่ยื่นคำร้องว่า ต่างเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนดซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลคลองตาคด อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕ ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๘๖ ให้เวนคืนที่ดินของผู้ร้องทั้งสี่ เพื่อประโยชน์ของทางราชการกรมชลประทานและกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้ราคาไร่ละ ๒,๐๐๐ บาท ผู้ร้องทั้งสี่ปฏิเสธเพราะราคาไม่เป็นธรรม ได้มีการตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นชี้ขาดเรื่องราคา ฝ่ายกรมชลประทานเสนอตั้งนายมณฑลอัยการจังหวัดราชบุรี ฝ่ายผู้ร้องทั้งสี่เสนอตั้งนายมรุธา แต่ตั้งสองฝ่ายมีความเห็นไม่ตรงกัน นายมณฑลกำหนดราคาค่าทดแทนไร่ละ ๑๐,๐๐๐ บาท แต่นายมรุธากำหนดราคาไร่ละ ๖๘,๐๐๐ บาท จึงได้ตั้งประธานอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด โดยให้ฝ่ายผู้ร้องเป็นผู้ร้องขอต่อศาล ผู้ร้องทั้งสี่ยื่นคำร้องขอต่อศาลจังหวัดราชบุรี ขอตั้ง ดร.อุกฤษเป็นประธานอนุญาโตตุลาการชี้ขาด ศาลไต่สวนคำร้องมีคำสั่งตั้ง ดร.อุกฤษตามคดีหมายเลขแดงที่ ๓๔๕/๒๕๑๕ ต่อมาวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ดร.อุกฤษได้ทำคำชี้ขาดว่าราคาที่เป็นธรรมควรกำหนดเป็นราคาไร่ละ ๖๘,๐๐๐ บาท และยื่นคำชี้ขาดต่อศาลจังหวัดราชบุรี ตามบทบัญญัติมาตรา ๒๑๘ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ทางฝ่ายกรมชลประทานได้ทราบคำชี้ขาดนี้แล้วไม่ยอมปฏิบัติตาม จึงขอให้ศาลพิจารณาและพิพากษาตามคำชี้ขาดของประธานอนุญาโตตุลาการ และบังคับให้กรมชลประทานปฏิบัติตามคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกาว่า มิใช่การตั้งอนุญาโตตุลาการนอกศาล เพราะศาลเป็นผู้แต่งตั้งเอง และแม้จะเป็นการตั้งอนุญาโตตุลาการนอกศาล มาตรา ๒๒๑ ก็ให้ทำเป็นคำร้องได้ซึ่งกรณีนี้ก็ต้องส่งสำเนาเรียกกรมชลประทานเข้ามาในคดี
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีตามคำร้องเป็นการเสนอข้อพิพาทในการกำหนดค่าทดแทนให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดเรื่องราคาที่ดินนอกศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๑ ข้อที่อนุญาโตตุลาการลงมติให้ผู้ร้องขอต่อศาลให้ตั้ง ดร.อุกฤษเป็นประทานอนุญาโตตุลาการ และศาลได้ไต่สวนมีคำสั่งตั้ง ดร.อุกฤษไปตามคำร้องแล้ว ในคดีของศาลจังหวัดราชบุรี หมายเลขแดงที่ ๓๔๕/๒๕๑๘ นั้น เป็นเพียงข้อตกลงของคู่กรณีว่า ให้ไปดำเนินการทางศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้ง ดร.อุกฤษเท่านั้น หาได้เป็นการตั้งอนุญาโตตุลาการในศาลดังฎีกาของผู้ร้องไม่ เพราะไม่มีคดีอันเป็นข้อพิพาทในเรื่องดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๑๐ เหตุนี้การที่ ดร.อุกฤษได้ทำคำชี้ขาดกำหนดราคาที่ดินยื่นต่อศาลไว้แล้ว ก็หาเป็นการชี้ขาดที่ต้องให้ศาลพิพากษาตามที่บังคับไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๑๘ วรรคสอง ดังที่ผู้ร้องได้กล่าวมาในคำร้องด้วยไม่
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๑ ให้ยื่นคำร้องขอต่อศาลก็เพื่อแสดงว่าผู้ยื่นมีสิทธิตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ แต่โดยเหตุที่คดีเรื่องนี้ผู้ร้องมีคำขอให้บังคับกรมชลประทานปฏิบัติตามคำพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเข้ามาด้วย จึงเป็นคดีที่มีจำเลย เรียกว่าเป็นคดีมีข้อพิพาท ชอบที่ผู้ร้องจะเสนอคดีต่อศาลโดยทำเป็นคำฟ้อง คำศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำร้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน.

Share