คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 192/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อาศัยห้องเขาอยู่ แม้จะให้เงินตอบแทนโดยจะให้ก็ได้ไม่ให้ก็ได้ดังนี้ไม่เป็นการเช่าเมื่อเขาบอกกล่าวล่วงหน้าให้ออกจากห้องแล้วจะขัดขืนไม่ได้

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อราว พ.ศ. 2486-2487 นายตั้งซี้ฮงได้ขออาศัยและค้าขายในตึกแถวเลขที่ 487 ถนนมหาพฤฒาราม อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร ซึ่งโจทก์เช่ามาจากกรมการศาสนา โดยใช้ยี่ห้องว่า “ตั้งจิงหยู” บัดนี้นายตั้งซี้ฮงได้เลิกกิจการค้าและย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้ว จำเลยผู้เป็นบริวารของนายตั้งซี้ฮงได้อ้อนวอนโจทก์ขออาศัยอยู่ก่อน จนกว่าจะหาที่ทางได้ แต่เนื่องด้วยโจทก์มีความจำเป็นต้องใช้ตึกห้องนี้เพื่อการค้าของโจทก์โจทก์จึงบอกกล่าวขอร้องให้จำเลยรีบขยับขยายออกไปเสียหลายครั้งหลายหน จำเลยก็ขอผัดและบิดพริ้วไม่ออกในที่สุดโจทก์ได้มอบให้ทนายความมีหนังสือบอกให้จำเลยออก จำเลยก็ขัดขืน จึงขอศาลได้บังคับให้จำเลยออกจากห้องรายนี้

จำเลยให้การว่า นายตั้งซี้ฮงไม่ได้ขออาศัยห้องพิพาทจากโจทก์จำเลยไม่ได้เป็นบริวารของนายตั้งซี้ฮง และไม่เคยอ้อนวอนขออาศัยโจทก์อยู่ก่อนจนกว่าจะหาที่ทางได้ใหม่ดังฟ้องแต่ประการใดความจริงยี่ห้อ “ตั้งจิงหยู” เป็นยี่ห้อของจำเลยซึ่งจำเลยได้ตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญขึ้นโดยใช้ชื่อยี่ห้อนี้ จำเลยในฐานะผู้เป็นหุ้นส่วนได้รับเซ้งห้องพิพาทมาจากโจทก์ และได้เช่าช่วงนายตั้งซี้ฮงก็เป็นแต่เพียงหุ้นส่วนด้วยคนหนึ่งเช่นเดียวกับจำเลยเท่านั้น และต่อมานายตั้งซี้ฮงกับผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นได้ถอนเงินหุ้นของตนออกไปหมด โอนกิจการค้าของยี่ห้อ”ตั้งจิงหยู” ให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่จำเลยแต่ผู้เดียว โจทก์ย่อมทราบดี ทั้งโจทก์ยังได้เก็บค่าเช่าช่วงจากจำเลยติดต่อกัน มีใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานไม่เคยติดค้าง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวาร

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยได้เช่าเป็นที่อยู่อาศัยให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาได้ฟังคำแถลงของทนายโจทก์จำเลย ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีเรื่องนี้แล้ว

คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยโดยอ้างเหตุว่าจำเลยอาศัย ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่าเช่าเพื่ออยู่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่า ฯลฯ

ทางพิจารณาได้ความตามคำพยานหลักฐานของโจทก์จำเลย คดีควรฟังเป็นความจริงได้ว่า โจทก์ได้เช่าห้องเลขที่ 487, 489 และ 491 ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนมหาพฤฒาราม มาจากกรมการศาสนา เพื่อทำการค้าและอยู่อาศัยเอง มาเป็นเวลา 15 ปีเศษ เฉพาะห้องเลขที่ 487 ซึ่งเป็นห้องพิพาทในคดีนี้นั้น ฝ่ายจำเลยเป็นผู้อยู่ จำเลยกับพวกได้ประกอบกิจการค้าโดยเข้าหุ้นส่วนกัน ใช้ชื่อยี่ห้อว่า”ตั้งจิงหยู” จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า “ได้รับเซ้งห้องพิพาทนี้มาจากโจทก์ และได้เช่าช่วงห้องพิพาทจากโจทก์ มีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือตลอดมา” แต่ในทางพิจารณาไม่ได้ความว่ามีการเซ็งห้องพิพาท และไม่ได้ความว่า มีการเช่าช่วงเป็นหนังสือดังคำต่อสู้ของจำเลย ตัวจำเลยเองเบิกความว่า ไม่ได้ทำหนังสือสัญญาเช่า มีแต่ใบเสร็จรับเงินค่าเช่า ฉะนั้นข้อที่จำเลยต่อสู้ไว้ว่าได้รับเซ้งห้องพิพาทจากโจทก์ และมีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือนั้น จึงมิใช่เป็นความจริง

แต่จำเลยมีใบเสร็จรับเงิน ไม่มีข้อความว่าเป็นค่าเช่าบ้านเลขที่เท่าใด และโจทก์มิได้ลงนามเป็นผู้รับเงิน

ปัญหาในข้อเท็จจริงมีว่า จำเลยเป็นผู้อาศัยหรือเช่า

ได้พิจารณาคำพยานและหลักฐานตลอดแล้ว เห็นว่าควรฟังข้อเท็จจริงว่ามิใช่เป็นการให้เช่า แต่เป็นการให้อาศัย เพราะเหตุว่า

(1) ห้องพิพาทรายนี้เป็นอสังหาริมทรัพย์ ถ้าจะเช่ากัน ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ตามมาตรา 538 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

(2) ห้องพิพาทรายนี้เป็นทรัพย์สินของกรมการศาสนา มิใช่เป็นทรัพย์สินของโจทก์

(3) โจทก์เช่ามาจากรมการศาสนา โดยมีข้อสัญญาผูกพันว่าห้ามมิให้โอนหรือแบ่งให้ผู้อื่นเช่าช่วงแม้แต่บางส่วน ทั้งตามมาตรา 544 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็บัญญัติห้ามไว้ซึ่งแปลว่าโจทก์ไม่มีอำนาจให้เช่าช่วง

(4) ถ้าโจทก์ขืนให้เช่าช่วง นอกจากว่าการให้เช่าช่วงเป็นการไร้ผลแล้วยังเป็นโทษแก่โจทก์อีกมาก โดยโจทก์จะถูกเจ้าของบอกเลิกสัญญาการเช่าทั้งหมดเพราะผิดสัญญา โจทก์จะต้องเดือดร้อนต้องออกจากห้องเช่าหมดทั้ง 3 ห้อง มิใช่เพียงแต่ห้องพิพาทห้องเดียว

(5) จำเลยผู้อยู่ได้รู้เหตุการณ์ความเป็นจริงในข้อเหล่านี้เมื่อเหตุการณ์เป็นดังนี้ โจทก์จำเลยจึงมิอาจที่จะทำหนังสือสัญญาเช่าช่วงต่อกันได้ ข้อที่จำเลยต่อสู้ว่า ได้รับเซ้งห้องพิพาทจากโจทก์และมีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือนั้น เป็นข้อเหลวไหลถ้าจำเลยประสงค์จะรับเซ้งและเช่าจริง ก็มีทางที่จะทำได้โดยชอบโดยจำเลยทำความตกลงกับโจทก์และกับกรมการศาสนาผู้เจ้าของก็จะเป็นการเรียบร้อยสมบูรณ์ทุกอย่าง แต่จำเลยก็หาได้ทำดังนั้นไม่มาเถียงเอาว่าเป็นการเช่าแล้ว เคยให้เงินเป็นค่าเช่าแก่ฝ่ายโจทก์แม้จะไม่มีหนังสือสัญญาก็อ้างความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯ

เห็นว่า พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่านั้น หมายถึงกรณีที่เป็นการเช่าโดยชอบ หากแต่มิได้มีหนังสือเป็นหลักฐาน แต่คดีนี้มิใช่เป็นการเช่าเพราะฝ่ายโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะให้เช่า

ข้อที่ว่าจำเลยเคยให้เงินแก่โจทก์นั้น จะเรียกว่าเป็นเงินค่าเช่าตามกฎหมายหาได้ไม่ จำเลยจะให้ก็ได้ ไม่ให้ก็ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิอันใดที่จะเรียกร้องเงินเล็กน้อยที่ให้แก่กันนี้จึงเป็นเงินประเภทที่ทดแทนบุญคุณที่เอื้อเฟื้อต่อกันในการที่จำเลยได้เข้ามาอยู่และได้รับความร่มเย็นจากโจทก์ไม่พอที่จะถือว่าโจทก์จำเลยได้เจตนาจะผูกพันให้เป็นการเช่า เพราะมีเหตุติดขัดหลายประการดังกล่าวมาแล้ว ต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาของคู่กรณีเป็นใหญ่ดุจดังคดีในคำพิพากษาฎีกาที่ 1465/2495 ระหว่าง นางบุญศรีหรือม๊วย เตียวงศ์ โจทก์ นายเอฟ.อี ชอมเมอเร็กเกอร์จำเลย

โดยเหตุที่กล่าวมา ศาลนี้เห็นว่าจำเลยได้อยู่ในห้องพิพาทนี้โดยการอาศัยโจทก์ เมื่อโจทก์ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามควรแก่กาลให้จำเลยออก จำเลยไม่มีสิทธิอย่างใดที่จะขัดขืน ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้ชอบแล้ว

จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดียืนตามคำพิพากษาของศาลแขวงพระนครใต้ ให้จำเลยเสียค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ 3 ศาลเป็นเงิน 150 บาท ให้แก่โจทก์

Share