คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1915/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ มีหน้าที่ติดตามทวงถามลูกหนี้และผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้แต่ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ปล่อยปละละเลยจนคดีขาดอายุความทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหาย และให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ฐานผิดสัญญาจ้างแรงงานและเรียกค่าเสียหาย อายุความของสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องนั้นเป็นต้นไปศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อนาย ส.ขาดอายุความ ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2525 และสิทธิเรียกร้องที่มีต่อนายต. ขาดอายุความตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2524 โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้นับแต่วันที่หนี้แต่ละรายดังกล่าวขาดอายุความ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2536 เป็นเวลาเกิน10 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์มีหน้าที่ติดตามทวงถามลูกหนี้และผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้แก่โจทก์ ระหว่างเป็นลูกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 1 รับเรื่องให้ติดตามหนี้จากนายสำรวย ที่ก่อความเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 12,525.12 บาท แต่จำเลยที่ 1 ปล่อยปละละเลยจนเรื่องขาดอายุความ โจทก์ไม่สามารถฟ้องนายสำรวยได้และกรณีรถยนต์ของโจทก์ถูกรถของบุคคลภายนอกขับโดยนายตุ๋ยชนได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 รับเรื่องมาดำเนินการ แต่มิได้ดำเนินการใด ๆ เมื่อเรื่องขาดอายุความแล้วจึงได้ส่งเรื่องให้ทนายความฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 403,361.70 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเพราะคดีขาดอายุความ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายทั้งสามศาล 31,578 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 447,464.82 บาท จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 15,000 บาทขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้เงิน 447,464.82 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้จำเลยที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันกับจำเลยที่ 1 ชดใช้เงิน 15,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า ขณะจำเลยที่ 1 พ้นหน้าที่เป็นลูกจ้าง โจทก์ได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีหนี้สินหรือความผูกพันใด ๆ กับโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับมอบเรื่องนายสำรวยและนายตุ๋ยมาดำเนินการไม่เคยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหาย มูลหนี้ตามฟ้องเป็นมูลหนี้ที่ไม่แน่นอนและฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาในชั้นนี้ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่าจะต้องนับอายุความสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยที่ 1 โดยเริ่มนับจากวันที่ 1 มิถุนายน2527 อันเป็นวันที่โจทก์ไล่ จำเลยที่ 1 ออกจากงานในกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่ติดตามทวงถามหนี้จากนายสำรวย เฉลียวผุดผ่อง และเริ่มนับจากวันที่ 27 มิถุนายน 2531 อันเป็นวันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่ติดตามทวงถามหนี้จากคู่กรณีที่ขับรถชนรถยนต์ของโจทก์ที่นายตุ๋ย ไถเงิน เป็นคนขับ ซึ่งเมื่อนับจากวันดังกล่าวจนถึงวันฟ้องคดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์และมีหน้าที่ติดตามทวงถามลูกหนี้และผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้แก่โจทก์ ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ปล่อยปละละเลยจนคดีขาดอายุความทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์และให้จำเลยที่ 2รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างฐานผิดสัญญาจ้างแรงงานและเรียกค่าเสียหายอายุความของสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายกรณีผิดสัญญาดังกล่าวย่อมเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องนั้นได้เป็นต้นไป เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า สิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อนายสำรวยได้ขาดอายุความตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2525 และสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อนายตุ๋ย (ที่ถูกน่าจะเป็นสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อคู่กรณีที่ขับรถชนรถยนต์ของโจทก์ที่นายตุ๋ยเป็นคนขับ)ได้ขาดอายุความตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2524 ดังนี้ โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้นับแต่วันที่หนี้แต่ละรายดังกล่าวขาดอายุความมิใช่นับจากวันที่โจทก์ไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงานหรือวันที่อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาดังที่โจทก์อ้าง โจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 24 มีนาคม 2526 จึงเป็นเวลาเกิน 10 ปี คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share