แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดฐานตัดฟันทำไม้ แปรรูปไม้ และมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา ๑๑, ๔๘, ๗๓ แม้จำเลยจะกระทำต่อไม้จำนวนเดียวกัน แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
การที่จำเลยเข้าไปตัดฟันทำไม้ในเขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดสำเร็จฐานเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่าตามมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๐๓ ทันทีที่จำเลยเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต และเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกับความผิดฐานตัดฟันทำไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา ๗๓ วรรคสอง แต่การที่จำเลยเข้าไปตัดฟันทำไม้ในเขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ย่อมเป็นความผิดทั้งฐานตัดฟันทำไม้ตามมาตรา ๗๓ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และฐานตัดโค่นต้นไม้ในเขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่า ตามมาตรา๒๔ แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ กรณีทั้งสองเป็นเรื่องที่จำเลยกระทำในคราวเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานตัดฟันทำไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา ๗๓ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๐๐ (ที่ถูก พ.ศ. ๒๕๐๓) มาตรา ๑๙, ๒๓,๒๔, ๔๒, ๔๔ พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔, ๖, ๗, ๑๑, ๔๗,๔๘, ๗๓, ๗๔, ๗๔ ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๔มาตรา ๔ พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๓พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๘ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔, ๗, ๑๙ พระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๙ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๗)พ.ศ. ๒๕๒๕ มาตรา ๔ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒)พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓ พระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่า พ.ศ. ๒๔๘๑มาตรา ๑๐, ๒๑ พระราชบัญญัติคุ้มครองป่า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๗มาตรา ๗, ๘ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๙๑พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖มาตรา ๔ ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๐๐ (ที่ถูก พ.ศ. ๒๕๐๓) มาตรา ๑๙,๒๓, ๒๔, ๔๒, ๔๔ พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔, ๖,๗, ๑๑, ๔๗, ๔๘, ๗๓, ๗๔, ๗๔ ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓ พระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่าพ.ศ. ๒๔๘๑ มาตรา ๑๐, ๒๑ พระราชบัญญัติคุ้มครองป่า (ฉบับที่ ๓)พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๗, ๘ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๙๑ให้เรียงกระทงลงโทษฐานทำไม้หวงห้ามเป็นกรรมเดียวกับฐานทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯมาตรา ๗๓ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุกคนละ ๒ ปี ฐานแปรรูปไม้หวงห้าม จำคุกคนละ ๒ ปี ฐานร่วมกันมีไม้แปรรูปหวงห้ามจำคุกคนละ๒ ปี ฐานเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตปรับคนละ๖๐๐ บาท และฐานเข้าไปตัดโค่นไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำคุกคนละ ๑ ปี รวมจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ ๗ ปี ปรับคนละ ๖๐๐ บาทจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘คงจำคุกจำเลยทั้งสองไว้มีกำหนดคนละ ๓ ปี ๖ เดือนและปรับคนละ ๓๐๐บาท ค่าปรับหากไม่ชำระให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๒๙, ๓๐ ของกลางให้ริบ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับมาเพียงประการเดียวว่า การกระทำผิดของจำเลยตามฟ้องเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งต้องลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา ๗๓ เพียงกระทงเดียวหรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เฉพาะความผิดฐานตัดฟัน ทำไม้ แปรรูปไม้และมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ที่โจทก์ฟ้องนั้นแม้จำเลยที่ ๑ จะกระทำต่อไม้จำนวนเดียวกัน แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันส่วนความผิดฐานเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตและความผิดฐานตัดโค่นไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๒๓ และมาตรา ๒๔นั้นมีปัญหาว่าการกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้จะเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานตัดฟันทำไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา ๗๓ วรรคสองหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว มาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ บัญญัติว่า “…ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่…” และมาตรา ๒๔ บัญญัติว่า “ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปครอบครองยึดถือที่ดินหรือตัด โค่น… ต้นไม้หรือพฤกษชาติอื่น…”ศาลฎีกาเห็นว่าสำหรับความผิดฐานเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้นย่อมเป็นความผิดสำเร็จทันทีที่จำเลยที่ ๑ เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกับความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา ๗๓ วรรคสอง แต่การกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่เข้าไปตัดฟันทำไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องนั้นย่อมเป็นความผิดทั้งตามมาตรา ๗๓ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และตามมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯกรณีจึงเป็นเรื่องจำเลยที่ ๑ กระทำในคราวเดียวกัน การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานตัดฟันทำไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา ๗๓ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ฟังขึ้นบางส่วน และปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจแก้ไขถึงจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำผิดและมิได้ฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๑๓, ๒๒๕
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองเฉพาะความผิดฐานตัดฟันทำไม้ ตามมาตรา ๗๓ วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และความผิดฐานตัดโค่นต้นไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ มาตรา ๒๔ เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา ๗๓ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ รวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ ๓ ปี ปรับคนละ ๓๐๐ บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.