คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1913/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายห้ามนั้น หาใช่จะเป็นความผิดเฉพาะการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราในขณะที่กู้ยืมเงินกันไม่ การเรียกภายหลังการกู้ยืมเงินก็เป็นความผิด
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์จำนองที่ดินไว้แก่จำเลย คิดดอกเบี้ยชั่งละบาทต่อเดือน ต่อมาจำเลยคิดดอกเบี้ยที่ค้าง 16 เดือน เป็นจำนวนเกินอัตราไป 480 บาท ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3,4 ดังนี้ ศาลจะมีคำสั่งที่คำฟ้องว่ายกฟ้องเสียเลยทีเดียวหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำนองที่ดินแปลงหนึ่งไว้แก่จำเลย ๗,๖๐๐ บาท คิดดอกเบี้ยชั่งละ ๑ บาทต่อเดือน แล้วขอขึ้นเงินจำนองอีก +,๐๐๐ บาท รวมเป็น ๑๑,๖๐๐ บาท คิดดอกเบี้ยเช่นเดิม ต่อมาโจทก์คิดดอกเบี้ยที่ค้างอยู่รวม ๑๖ เดือน เป็นเงิน ๒,๘๐๐ บาท แต่โจทก์จ่ายให้ไปแล้ว ๑,๒๐๐ บาท และดอกเบี้ยชั่งละ ๑ บาทต่อเดือน เป็นดอกเบี้ยที่ค้าง (เพียง ๒,๓๒๐ บาท แต่จำเลยคิดเอาดอกเบี้ยแก่โจทก์ถึง ๒,๘๐๐ บาท เกินไป ๔๘๐ บาท เป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.๒๔๗๕ มาตรา ๓,๔
ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง(ที่คำฟ้อง)ว่า ตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.๒๔๗๕ มาตรา ๓ บัญญัติว่า บุคคลใด (ก) ใช้บุคคลอื่นยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ฯลฯ จึงจะเป็นความผิดแต่ปรากฎตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ว่า ในขณะที่จำเลยให้โจทก์ยืมเงินนั้น จำเลยมิได้คิดดอกเบี้ยเกินอัตราแต่อย่างใด ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการผิดต่อพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้ยกฟ้องโจทก์ตามมาตรา ๑๖๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อความตามสำเนาเอกสารท้ายอุทธรณ์ของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยแสดงเจตนาเรียกร้องเอาดอกเบี้ยจากโจทก์ และในขณะที่ทำสัญญาจำนองกัน ตามเอกสารก็ลงว่าดอกเบี้ยชั่งละ ๑ บาทต่อเดือน ซึงไม่ผิดจากอัตราในกฎหมาย พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามฟ้องถือได้ว่าโจทก์อ้างว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.๒๔๗๕ มาตรา ๓ แล้ว ฟ้องโจทก์ได้บรรยายตรงตามมาตรา ๓ (ก) แล้ว การคิดดอกเบี้ยเกินอัตราตามมาตรา ๓ นี้หาใช่จะเป็นความผิดเฉพาะการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราในขณะที่กู้ยืมเงินไม่ ถ้ามีการเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าในอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ภายหลังการกู้ยืมเงินก็เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ ตามนัยฎีกาที่ ๗๑๘/๒๔๙๖ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
จึงพิพากษาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องโจทก์ไว้ดำเนินการต่อไป

Share