แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำขอท้ายฟ้องที่ขอให้สั่งให้จำเลย คนงาน ผู้รับเหมา ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นคำขอในวิธีการอุปกรณ์ของโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31 วรรคสาม และพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2483 มาตรา 72 ตรี วรรคสาม ซึ่งศาลจะมีคำสั่งได้เช่นนั้นต่อเมื่อศาลพิพากษาชี้ขาดว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตราดังกล่าว เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องโดยมิได้พิพากษาชี้ขาดว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตราดังกล่าว ศาลจึงไม่มีอำนาจสั่งให้ตามที่โจทก์ขอได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2541 เวลากลางวันจำเลยก่นสร้างแผ้วถางเข้ายึดถือหรือครอบครองที่ดินป่าสงวนแห่งชาติบริเวณสวนป่าไชยาบ้านห้วยไม้แห้ง หมู่ที่4 ตำบลปากหมาก อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎรณ์ธานี ซึ่งเป็นบริเวณส่วนหนึ่งของที่ดินภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นการกระทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ คิดเป็นเนื้อที่ 20 ไร่ ทำให้รัฐได้รับความเสียหายเป็นเงิน 1,364,884.40 บาทโดยจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตและมิได้รับยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมายเหตุเกิดที่ตำบลปากหมาก อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยได้พร้อมมีดพร้า1 เล่ม ซึ่งเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นของกลางขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 5, 54, 55, 72 ตรี, 74 ทวิพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 5, 6, 9, 14, 31, 35 ริบของกลาง และให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้างผู้แทนและบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน คำให้การชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก 1 ปี ให้จำเลยคนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนที่เกิดเหตุ คืนของกลางให้เจ้าของ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง พนักงานรักษาป่าสำนักงานสวนป่าอำเภอไชยา และเจ้าพนักงานตำรวจตระเวนชายแดนที่ 417 ร่วมกันจับกุมจำเลยขณะที่จำเลยใส่ปุ๋ยต้นยางพาราในที่เกิดเหตุโดยจำเลยรับจ้างบุคคลอื่นพร้อมกับยึดมีดพร้าเป็นของกลางสวนยางพาราที่เกิดเหตุมีเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ อยู่ในท้องที่บ้านห้วยไม้แห้งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของป่าท่าชนะเขต ป่าสงวนแห่งชาติ ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยยึดถือครอบครองสวนยางพาราที่เกิดเหตุซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติเพื่อผู้อื่นตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ เห็นว่า ตามคำเบิกความของนายวิชาญไชยถาวร และนายรังสรรค์ มหานิล พนักงานรักษาป่า สำนักงานสวนป่าอำเภอไชยาพยานโจทก์ได้ความเพียงว่า พยานทั้งสองได้ร่วมกันจับกุมจำเลยขณะที่จำเลยใส่ปุ๋ยต้นยางพาราในที่เกิดเหตุ โดยจำเลยถือมีดพร้า 1 เล่ม ของกลางต้นยางพาราดังกล่าวมีอายุประมาณ 3 ถึง 4 เดือน แต่นายวิชาญ เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าพยานไม่ทราบว่าต้นยางพาราที่ปลูกในที่เกิดเหตุเป็นของผู้ใด จำเลยให้การที่หน่วยป้องกันรักษาป่าอำเภอไชยาว่า รับจ้างใส่ปุ๋ยในที่เกิดเหตุ บันทึกการตรวจจับกุมเอกสารหมาย จ.4 จัดทำขึ้นที่หน่วยป้องกันรักษาป่า อำเภอไชยา ไม่มีข้อความระบุว่าจำเลยเป็นเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ และนายรังสรรค์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ร่องรอยการถางป่ามีมานานประมาณ 3 ถึง 4 เดือน พยานไม่ทราบว่าผู้ใดเข้าไปถางป่า ซึ่งร้อยตำรวจโทบุญฤทธิ์ เขียดแก้ว พนักงานสอบสวนก็เบิกความว่าในชั้นสอบสวนจำเลยได้ให้การว่ารับจ้างจากนางแดงใส่ปุ๋ยต้นยางพาราค่าจ้างต้นละ 2 บาท มีทั้งหมด 500ต้น เพิ่งใส่ปุ๋ยได้ 300 ต้น ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.7 ดังนี้เห็นว่า จากคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวข้อเท็จจริงยังไม่ได้ความชัดแจ้งว่า หลังจากจำเลยรับจ้างใส่ปุ๋ยแล้วจำเลยได้ครอบครองพื้นที่เกิดเหตุแทนผู้ว่าจ้างด้วยหรือไม่ ทั้งตามที่นายวิชาญและนายรังสรรค์เบิกความอ้างว่าขณะจับกุมจำเลยรับว่าบุกรุกแผ้วถางยึดถือครอบครองที่เกิดเหตุนั้น ก็ปรากฏว่าตามบันทึกการตรวจจับกุมเอกสารหมาย จ.4 กลับไม่มีข้อความดังกล่าวระบุไว้เลยและในชั้นสอบสวนกับชั้นพิจารณาจำเลยก็ให้การปฏิเสธมาโดยตลอดประกอบกับทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยเข้าไปใส่ปุ๋ยหรือดูแลรักษาต้นยาพาราในสวนยางพาราที่เกิดเหตุก่อนหน้านี้หรือไม่ และทำมานานเท่าใดอันจะแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้เข้าครอบครองพื้นที่เกิดเหตุไว้เพื่อผู้อื่น ดังนั้นจำเลยอาจจะรับจ้างใส่ปุ๋ย เมื่อใส่เสร็จแล้ว จำเลยก็หมดภาระหน้าที่โดยมิได้ครอบครองพื้นที่เกิดเหตุด้วยก็เป็นได้ คดีจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองสวนยางพาราที่เกิดเหตุเพื่อผู้อื่นตามความหมายของมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484หรือมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 แต่อย่างใด จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่งที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องขอให้สั่งให้จำเลย คนงานผู้รับเหมา ผู้แทน และบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุนั้น เห็นว่า คำขอส่วนนี้เป็นคำขอในวิธีการอุปกรณ์ของโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31 วรรคสาม และพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2483 มาตรา 72 ตรี วรรคสามซึ่งศาลจะมีคำสั่งได้เช่นนั้นต่อเมื่อศาลพิพากษาชี้ขาดว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตราดังกล่าวเมื่อศาลมิได้พิพากษาชี้ขาดว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตราดังกล่าวแล้ว ศาลจึงไม่มีอำนาจสั่งให้ตามที่โจทก์ขอได้”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง และให้ยกคำขอที่ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุด้วย ส่วนมีดพร้าของกลางให้คืนแก่เจ้าของ