คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5107/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้คันดินกั้นน้ำที่ผ่านหน้าบ้านโจทก์สามารถใช้เป็นทางเดินและในฤดูแล้งสามารถใช้เป็นทางรถยนต์แล่นได้ แต่คันดินกั้นน้ำสามารถใช้เป็นทางเดินและทางให้รถยนต์แล่นเฉพาะหน้าแล้งเท่านั้น ถ้าเป็นฤดูฝนและช่วงน้ำหลากจะใช้เป็นทางไม่สะดวกเพราะน้ำท่วมคันดิน พื้นถนนบนคันดินทรุดและลื่น แสดงว่าทางภารจำยอมพิพาทยังเป็นประโยชน์แก่ที่ดินโจทก์ในช่วงน้ำหลากหรือในกรณีฝนตกหนัก เพื่อใช้เป็นทางออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ ประโยชน์ของโจทก์ที่จะได้จากทางพิพาทยังมีอยู่มาก จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจขอให้ที่ดินจำเลยทั้งสองพ้นจากภารจำยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1400 วรรคสองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันเปิดทางภารจำยอมในที่ดินของจำเลยทางด้านทิศตะวันออกให้มีความกว้าง 2 เมตร 70 เซนติเมตร ยาวตลอดแนวที่ดินตั้งแต่ทิศเหนือจดทิศใต้ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนรั้ว ต้นไม้ และไถดินที่ถมออกจากทางภารจำยอม ทำทางภารจำยอมให้มีสภาพเป็นทางดังเดิม ให้โจทก์และบริวารเดินและนำรถยนต์แล่นเข้าออกจากที่ดินโจทก์สู่ทางสาธารณะได้ และห้ามจำเลยทั้งสองยุ่งเกี่ยวกับทางภารจำยอมอีกต่อไป

จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า ปัจจุบันที่ดินของโจทก์มีถนนสาธารณะตัดผ่านทำให้ทางพิพาทหมดประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ ทั้งโจทก์ได้แสดงเจตนาเลิกใช้ทางพิพาทแล้ว ประกอบกับจำเลยทั้งสองใช้ที่ดินบริเวณทางพิพาททำไร่จึงได้รับประโยชน์มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการที่โจทก์จะใช้ทางพิพาทเป็นทางเดินประโยชน์การใช้ทางพิพาทของโจทก์มีน้อย ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 3292 โดยกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ 5,000 บาท และห้ามโจทก์กับบริวารเกี่ยวข้องกับทางพิพาทอีกต่อไป

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ขณะยื่นฟ้องที่ดินของโจทก์ยังไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ทางที่จำเลยทั้งสองอ้างเป็นเพียงคันดินกั้นน้ำจากแม่น้ำลพบุรี รถยนต์ไม่สามารถแล่นผ่านทางดังกล่าวได้ จำเลยทั้งสองปลูกต้นไม้และปิดกั้นทางภารจำยอมเพราะต้องการแกล้งโจทก์ ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนทางภารจำยอม ห้ามโจทก์และบริวารเกี่ยวข้องกับทางภารจำยอมอีกต่อไป โดยให้จำเลยทั้งสองเสียค่าทดแทนให้โจทก์จำนวน 15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 16 มกราคม 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันเปิดทางภารจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 3292 ตำบลท่าวุ้ง อำเภอท่าวุ้ง (โพหวี) จังหวัดลพบุรี ทางด้านทิศตะวันออก กว้าง 2 เมตร 70 เซนติเมตร ยาวตลอดแนวที่ดินตั้งแต่ทิศเหนือจดทิศใต้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนรั้ว ต้นไม้ และไถดินที่ถมออกจากทางภารจำยอมกับทำทางภารจำยอมให้มีสภาพเป็นทางให้โจทก์และบริวารสามารถเดินและนำรถยนต์เข้าออกตามทางภารจำยอมได้โดยสะดวก และห้ามจำเลยทั้งสองขัดขวางการใช้ทางภารจำยอมอีกต่อไป ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นที่ยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.2 โดยรับมรดกจากมารดาเมื่อปี 2539 ส่วนจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.3 โดยรับมรดกจากมารดาเมื่อปี 2505ที่ดินโจทก์และจำเลยทั้งสองมีอาณาเขตติดต่อกัน โดยที่ดินด้านทิศเหนือของโจทก์ติดกับด้านทิศใต้ของที่ดินจำเลยทั้งสอง เมื่อปี 2495 มารดาจำเลยทั้งสองตกลงจดทะเบียนให้ที่ดินของตนด้านทิศตะวันออกกว้าง 2 เมตร 70 เซนติเมตร ยาวตลอดแนวที่ดินตกเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของมารดาโจทก์ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.2 โดยไม่มีกำหนดระยะเวลา บิดามารดาโจทก์และโจทก์ต่างใช้ทางภารจำยอมเป็นทางออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ตลอดมา ต่อมาเมื่อปี 2532 มีการสร้างคันดินกั้นน้ำแม่น้ำลพบุรีผ่านหน้าบ้านโจทก์ทางด้านทิศใต้สามารถใช้เป็นทางเดินได้ และมีทางเชื่อมจากคันดินกั้นน้ำดังกล่าวไปทางสาธารณประโยชน์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2539 จำเลยที่ 1 ถมดินบนทางภารจำยอมสูงประมาณ 80 เซนติเมตร ยาวประมาณ 20 เมตร กั้นเป็นรั้วและปลูกต้นไม้บนทางภารจำยอมเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถใช้ทางภารจำยอมเข้าออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองมีเพียงประการเดียวว่า เมื่อมีถนนบนคันดินกั้นน้ำผ่านหน้าบ้านโจทก์แล้ว จำเลยทั้งสองจะขอให้ที่ดินของจำเลยทั้งสองพ้นจากการเป็นทางภารจำยอมทั้งหมดได้หรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าคันดินกั้นน้ำที่ผ่านหน้าบ้านโจทก์สามารถใช้เป็นทางเดินและในฤดูแล้งสามารถใช้เป็นทางรถยนต์แล่นได้ก็ตาม แต่ก็ได้ความจากนายสมพล ทวีทรัพย์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 นายประมาณ บุญแสง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 และนายจำลอง พุ่มพฤกษ์ อดีตกำนันตำบลท่าวุ้งพยานโจทก์ทั้งสามต่างเบิกความยืนยันว่า คันดินกั้นน้ำสามารถใช้เป็นทางเดินและทางให้รถยนต์แล่นเฉพาะหน้าแล้งเท่านั้น ถ้าเป็นฤดูฝนและช่วงน้ำหลากจะใช้ไม่ได้เพราะน้ำท่วมคันดิน พื้นถนนบนคันดินทรุดและลื่น ทั้งนายสมพลและนายประมาณต่างเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองท้องถิ่น ย่อมต้องรู้จักสภาพคันดินกั้นน้ำซึ่งอยู่ในเขตปกครองของตนและไม่ปรากฏว่ามีส่วนได้เสียกับโจทก์ น่าเชื่อว่าพยานโจทก์ทั้งสามเบิกความไปตามความเป็นจริง นอกจากนั้นนายสายบัว ภิญโญคม และนายฉลอง เที่ยงธรรม พยานจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นญาติกับจำเลยทั้งสองก็เบิกความเจือสมกับพยานโจทก์ทั้งสามถึงสภาพทางที่เป็นคันดินกั้นน้ำว่า ถ้าเป็นช่วงน้ำหลากหรือฝนตกจนน้ำท่วมคันดินกั้นน้ำแล้ว คันดินกั้นน้ำจะใช้เป็นทางไม่สะดวกเพราะลื่น คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ แสดงว่าทางภารจำยอมพิพาทยังเป็นประโยชน์แก่ที่ดินโจทก์ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.2 ในช่วงน้ำหลากหรือในกรณีฝนตกหนักเพื่อใช้เป็นทางออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ เมื่อเทียบกับภาระอันตกอยู่แก่ที่ดินของจำเลยทั้งสองซึ่งปรากฏตามคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า ใช้เป็นเพียงที่อยู่อาศัย เห็นว่าประโยชน์ของโจทก์ที่จะได้จากทางพิพาทยังมีอยู่มาก จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจขอให้ที่ดินจำเลยทั้งสองพ้นจากภารจำยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1400 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share