คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 191/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 และความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหายจึงเป็นโจทก์ร่วมในข้อหาดังกล่าวไม่ได้ และไม่มีสิทธิฎีกาในข้อหาดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้ได้ ก็น่าจะหมายถึงอนุญาตให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมได้เฉพาะในข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289, 80 ศาลฎีการับวินิจฉัยเฉพาะฎีกาในข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันมีอาวุธปืนและกระสุนปืนขนาด ๗.๖๒ ร่วมกันพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวโดยมิได้รับอนุญาต และร่วมกันใช้ยิงนายบุญส่ง ชุมแสง ณ อยุธยา ผู้เสียหายหลายนัดโดยไตรตรองไว้ก่อน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๔, ๗, ๘ ทวิ, ๕๕, ๗๒, ๗๒ ทวิ, ๗๘ พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๑ มาตรา ๓ พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖, ๘ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๔ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๓, ๖, ๗ กฎกระทรวงฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๔๙๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๒๒) ข้อ ๑ ถึงข้อ ๔ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒, ๓๓, ๘๐, ๘๓, ๙๑, ๒๘๘, ๒๘๙, ๓๗๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔ ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ในวันสืบพยานจำเลย นายบุญส่ง ชุมแสง ณ อยุธยา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ ประกอบด้วยมาตรา ๘๐, ๓๗๑, ๘๓ พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๕๕, ๗๒, ๗๒ ทวิ, ๗๘ พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖, ๘ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๔ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๓, ๗ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ซึ่งแก้ไขใหม่ ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ ประกอบด้วยมาตรา ๘๐ และ ๕๒ (๑) จำคุกตลอดชีวิต ความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ฐานมีอาวุธปืน จำคุก ๓ ปี ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ และความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ฐานพาอาวุธปืนติดตัว เป็นความผิดกรรมเดียวให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุก ๑ ปี รวมโทษทุกกระทงแล้วให้ลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ (๓) ซึ่งแก้ไขใหม่ ริบของกลาง เว้นรถยนต์ของกลางไม่ริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เฉพาะฎีกาของโจทก์ร่วมที่ขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้องนั้น เห็นว่าแม้ศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้ได้น่าจะหมายถึงอนุญาตให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมได้เฉพาะในข้อหาพยานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๒๘๙, ๘๐ เท่านั้น เพราะโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายในข้อหานี้ ส่วนข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ และความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหาย จึงเป็นโจทก์ร่วมในข้อหาดังกล่าวไม่ได้ ดังนั้น โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิฎีกาในข้อหาดังกล่าวนี้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ คงรับวินิจฉัยให้เฉพาะฎีกาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๒๘๙, ๘๐ เท่านั้น และวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายยิงโจทก์ร่วม
พิพากษายืน ส่วนของกลางนอกจากรถยนต์ของจำเลยเป็นทรัพย์ที่คนร้ายใช้ในการกระทำความผิดให้ริบ

Share