คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2696/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยเป็นคู่ความเดียวกันกับคู่ความในคดีก่อนซึ่งศาลฎีกาพิพากษาว่า จำเลยไม่มีสิทธิได้รับมรดกของ ป.จำเลยจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลยตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ดังนั้น คดีนี้จึงต้องฟังว่าจำเลยไม่มีสิทธิได้รับมรดกของ ป. เพราะมิใช่ทายาท

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากบ้านเลขที่ 224 ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 5573 ห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 600 บาท ให้ใช้ค่าเสียหายที่จำเลยเก็บค่าเช่านาจากผู้เช่า 9,000 บาท ห้ามจำเลยเก็บค่าเช่านาอีกต่อไป ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีข้อวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า คำพิพากษาคดีก่อนผูกพันจำเลยในคดีนี้หรือไม่

ข้อเท็จจริงได้ความว่า คดีก่อนจำเลยยืนคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายเป้า นางปิ (ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 299/2521 ของศาลจังหวัดสุพรรณบุรี) อ้างว่าจำเลยเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายเป้า นางปิ ผู้ตายซึ่งไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ โจทก์คัดค้านว่านายเป้า นางปิมีบุตรคนเดียวคือโจทก์ จำเลยเป็นเพียงบุคคลที่นายเป้า นางปินำมาเลี้ยงไว้ตั้งแต่ยังเยาว์อยู่เท่านั้น จึงไม่ใช่ทายาทไม่มีสิทธิรับมรดก และเรื่องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายเป้า นางปิ คดีถึงที่สุดโดยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 425/2523 ระหว่างนายสมชัย ขาวนาค โจทก์ นางปิว โพธิ์ทองจำเลยวินิจฉัยว่า บุตรบุญธรรมที่จะมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น หมายความเฉพาะบุตรบุญธรรมที่จดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เท่านั้น โจทก์ (จำเลยคดีนี้) ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของนายเป้า นางปิ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470 ก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 แต่มิได้จดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 จึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกของนายเป้า นางปิ โจทก์จึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะมาร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของนายเป้า นางปิได้ คดีนี้ โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกไปจากบ้านและที่ดินอันเป็นมรดกของนายเป้า นางปิ โดยอ้างว่ามรดกของนายเป้านางปิ ตกได้แก่โจทก์โดยพินัยกรรม จำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์เป็นบุตรและจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมของนายเป้า นางปิ มีสิทธิในมรดกเท่ากันโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลชั้นต้นได้ตั้งประเด็นข้อหนึ่งในหลายข้อว่า จำเลยเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกและมีสิทธิรับมรดกหรือไม่ ซึ่งประเด็นข้อนี้ตรงกับคดีก่อนที่ศาลต้องวินิจฉัยว่าจำเลยมีสิทธิในมรดกหรือไม่ ก่อนที่จะตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อโจทก์จำเลยเป็นคู่ความเดียวกันกับคู่ความในคดีก่อน และคดีก่อนศาลฎีกาพิพากษาว่า จำเลยไม่มีสิทธิได้รับมรดกของนายเป้า นางปิ จำเลยจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในมรดก ดังนี้ คำพิพากษาในคดีก่อนย่อมผูกพันจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 ดังนั้น คดีนี้จึงต้องฟังว่าจำเลยไม่มีสิทธิได้รับมรดกของนายเป้า นางปิ เพราะจำเลยมิใช่ทายาท”

พิพากษายืน

Share