คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1909/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยตกลงทำสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์อันเป็นอุปกรณ์ของโรงแยกก๊าซจำนวน 3 กลุ่ม รวม 499 รายการ ตามรายการละเอียดแนบท้ายสัญญา รวมราคาทั้งสิ้น 3,788,109 บาท ตามสำเนาสัญญาซื้อขายเอกสารท้ายฟ้อง จำเลยส่งมอบผลิตภัณฑ์ไม่ครบถ้วนขาดส่งจำนวน 160รายการ คิดเป็นเงิน 1,122,478 บาท ตามสำเนาบันทึกข้อความการตรวจรับพัสดุเอกสารท้ายฟ้อง โจทก์ได้จัดให้มีการประกวดราคาซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าจำนวน160 รายการ อันเป็นผลิตภัณฑ์ ชนิด คุณสมบัติลักษณะเดียวกับผลิตภัณฑ์ที่จำเลยมิได้ส่งมอบ และโจทก์ได้ตกลงจัดซื้อผลิตภัณฑ์จากผู้ชนะการประกวดราคา ตามสำเนาสัญญาซื้อขายอุปกรณ์ไฟฟ้าเอกสารท้ายฟ้องรวม 119 รายการ เป็นเงิน8,824,320 บาท และมีคำขอบังคับ เอกสารท้ายฟ้องดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องซึ่งปรากฏรายละเอียดแห่งสินค้ามาด้วย จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุมไม่จำต้องบรรยายว่าสินค้าที่โจทก์ซื้อมาใหม่เป็นสินค้าอะไรบ้าง และเป็นสินค้าชนิดและประเภทเดียวกับที่ระบุไว้ในสัญญาหรือไม่
เหตุสุดวิสัยตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 8 หมายถึงเหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นหรือจะให้ผลพิบัติไม่มีใครอาจป้องกันได้ แต่การทำสัญญาขายสินค้าที่มีการแจ้งความประกวดราคา เป็นหน้าที่ของผู้เสนอราคาโดยตรงที่จะต้องระวังรักษาผลประโยชน์ของตน โดยจะต้องพิจารณาด้วยตนเองว่าสินค้าตามใบแจ้งความประกวดราคานั้นตนเองสามารถจะจัดหามาและสู้ราคาได้หรือไม่เมื่อจำเลยผู้เสนอราคาได้พิจารณารายละเอียดของสินค้าตามที่โจทก์แจ้งความประกวดราคามานั้นว่าสามารถที่จะจัดหามาได้ และเมื่อโจทก์สนองรับซื้อแล้วซึ่งเป็นเวลาก่อนโจทก์และจำเลยจะทำสัญญากัน จำเลยก็ส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ครั้งแรกจำนวน 322 รายการ แล้วต่อมาจำเลยยังลงลายมือชื่อในสัญญาตามสัญญาซื้อขาย ซึ่งมีรายละเอียดของสินค้าระบุไว้ชัดเจนและเป็นเวลาภายหลังจำเลยส่งสินค้าครั้งแรกถึง 4 เดือนเศษ จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะอ้างว่าไม่สามารถส่งสินค้าด้วยเหตุสุดวิสัยหรือสำคัญผิดในคุณสมบัติของสินค้า แม้โจทก์จะทำสัญญากับจำเลยล่าช้า แต่เมื่อจำเลยยอมลงลายมือชื่อในสัญญาอันเป็นการรับรองว่าสัญญาถูกต้อง จำเลยย่อมไม่อาจยกข้อบกพร่องของสัญญาขึ้นมาอ้างต่อไปอีกได้และแม้โจทก์จะยอมรับสินค้าที่จำเลยส่งมา 2 ครั้งบางรายการ โดยส่งมาก่อนและหลังทำสัญญาก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์แสดงเจตนาว่าสินค้าที่จำเลยยังไม่ส่งมาเกิดจากข้อบกพร่องของสัญญา ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ยอมรับว่าสินค้าที่จำเลยยังมิได้ส่งมาเกิดจากเหตุสุดวิสัย ดังนี้ สัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ได้มีวัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัย
ตามหนังสือขอให้ยกเลิกสัญญาบางส่วนและขอให้ชำระหนี้ที่จำเลยมีถึงโจทก์ มีใจความว่า ขอให้โจทก์ยกเลิกสัญญาบางรายการที่ไม่อาจจัดส่งให้ได้อันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย แต่เมื่อตามสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทน ไม่ปรากฏข้อความให้จำเลยมีสิทธิยกเลิกสัญญาด้วยเหตุเช่นนั้น เมื่อสัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัยและโจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา ดังนี้ จำเลยจะบอกเลิกสัญญาด้วยเหตุที่จำเลยยกขึ้นมาเองโดยโจทก์ไม่ยินยอมด้วยหาได้ไม่
เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจึงจะนับเวลาที่โจทก์ต้องจัดซื้อสินค้าที่จำเลยขาดส่งภายใน 6 เดือน ตามสัญญา นับแต่จำเลยบอกเลิกสัญญาหาได้ไม่ และเมื่อจำเลยผิดสัญญาไม่ส่งสินค้าให้โจทก์และโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยแล้ว โจทก์ก็ได้ดำเนินการประกวดราคาจัดซื้อสินค้าที่จำเลยผิดนัดไม่ได้ส่งซึ่งไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 8 จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาข้อดังกล่าว ที่ตกลงกันว่าหากจำเลยส่งสินค้าไม่ครบทั้งหมดหรือบางส่วน โจทก์มีสิทธิริบหลักประกันกับเรียกค่าเสียหายในส่วนที่จัดซื้อสินค้าจากบุคคลอื่นเป็นราคาเพิ่มขึ้น
โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยรับผิดกรณีจำเลยผิดสัญญาซื้อขายไม่ส่งมอบสินค้าให้โจทก์ครบถ้วนตามสัญญา มิได้ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยรับผิดกรณีส่งมอบสินค้าให้โจทก์ชำรุดบกพร่อง ดังนี้ จะนำอายุความ 1 ปี กรณีข้อรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ.มาตรา 474 มาใช้บังคับหาได้ไม่ และกรณีเรียกร้องให้จำเลยรับผิดไม่ส่งมอบสินค้าให้โจทก์ครบถ้วนตามสัญญา ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าจะต้องฟ้องร้องภายในกำหนดเวลาเท่าใด สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในกรณีเช่นนี้จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 164 เดิม (193/30 ใหม่)
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์บอกเลิกสัญญาภายหลังที่จำเลยบอกเลิกสัญญานานถึง 5 เดือน เป็นการประมาทเลินเล่อไม่ใช้สิทธิภายในเวลาอันสมควรย่อมหมดสิทธิที่จะเรียกร้องเอาแก่จำเลยนั้นเมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำให้การต่อสู้ในข้อนี้ไว้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และไม่มีประเด็นนำสืบ ทั้งไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์เลือกใช้สิทธิริบหลักประกันตามสัญญาข้อ 8 แล้ว ย่อมไม่มีสิทธิที่จะปรับจำเลยในอัตราร้อยละ 0.2 ตามสัญญาข้อ 9อีกนั้น เมื่อปัญหาข้อนี้จำเลยมิได้กล่าวอ้างไว้ในคำให้การและมิได้เป็นประเด็นพิพาทจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

Share