คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6020/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นใบลาออกเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2540 โดยขอลาออกตั้งแต่วันที่ 16เมษายน 2540 เป็นต้นไป การที่โจทก์ยื่นใบลาออกต่อจำเลยย่อมเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้าง ซึ่งการเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้น นายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานได้แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมตกลงหรืออนุมัติแต่อย่างใด การเลิกสัญญาจ้างดังกล่าวจึงมีผลในวันที่โจทก์แจ้งไว้ในใบลาออกนั้นการจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 16 เมษายน 2540 เมื่อการจ้างสิ้นสุด โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างชอบที่จะได้รับใบสำคัญแสดงว่าโจทก์ได้ทำงานมานานเท่าไรและงานที่ทำนั้นเป็นงานอย่างไรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 585 ในวันที่การจ้างสิ้นสุดลง การที่จำเลยออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้แก่โจทก์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2540 ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว จำเลยต้องรับผิดต่อความเสียหายอันเกิดแต่การกระทำของจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย ครั้งสุดท้ายทำงานในตำแหน่งสมุห์บัญชีประจำธนาคารจำเลยสาขาถนนรัชดาภิเษก (โอลิมเปียไทยทาวเวอร์) เมื่อวันที่13 มีนาคม 2540 โจทก์ได้มีหนังสือขอลาออกเพื่อไปทำงานกับธนาคารแหลมทองจำกัด (มหาชน) โดยมีผลสิ้นสุดการเป็นพนักงานตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2540 เป็นต้นไปหลังจากนั้นโจทก์ได้เข้าปฏิบัติงานกับธนาคารแหลมทอง จำกัด (มหาชน) เป็นพนักงานทดลองงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการ เมื่อผ่านการทดลองงานแล้วธนาคารแหลมทองจำกัด (มหาชน) ส่งโจทก์เข้าปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการประจำสาขาอิมพีเรียลบางนา โดยกำหนดระยะเวลาให้โจทก์จัดส่งหนังสือรับรองการผ่านงาน (ใบสำคัญแสดงการทำงาน) ก่อนบรรจุโจทก์เป็นพนักงานประจำแต่จำเลยออกหนังสือย้อนหลังไม่อนุมัติให้โจทก์ลาออกและสั่งพักงานโจทก์โดยไม่จ่ายเงินเดือนและผลประโยชน์อื่นใดระหว่างพักงาน เป็นเหตุให้ธนาคารแหลมทอง จำกัด (มหาชน) ระงับการบรรจุโจทก์ไว้ชั่วคราวจนในที่สุดโจทก์ได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางจำเลยจึงยอมออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2540 การที่จำเลยถ่วงเวลาออกใบสำคัญแสดงการทำงานและไม่อนุมัติให้โจทก์ลาออกจากงานทำให้ธนาคารแหลมทอง จำกัด (มหาชน)ปฏิเสธไม่รับโจทก์เข้าทำงาน และทำให้โจทก์เสียโอกาสเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานโจทก์ได้รับความเสียหายทั้งสิ้นเป็นเงิน 9,294,450 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยจะจ่ายเงินโบนัสตามผลประกอบการของจำเลยมิใช่จำนวน 5 เท่าของเงินเดือนตามฟ้อง ระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยนั้น เมื่อวันที่28 มกราคม 2540 จำเลยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีบริษัทอาร์ทลิงค์ จำกัด ลูกค้าของจำเลยสาขาโอลิมเปียไทยทาวเวอร์แจ้งว่าเช็คของบริษัทจำนวน 3 ฉบับ เป็นเงิน 1,920,000 บาท ถูกลักไปและมีผู้ปลอมแปลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายและตราประทับของบริษัทแล้วนำมาขึ้นเงินจากจำเลย ปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้ร่วมอนุมัติจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าวด้วย ในระหว่างสอบสวน เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2540 โจทก์ได้ยื่นใบลาออก จำเลยเห็นว่าโจทก์น่าจะมีส่วนร่วมรับผิดในกรณีนี้ด้วยจึงมีคำสั่งไม่อนุมัติให้โจทก์ลาออก แต่ให้พักงานเพื่อรอผลการสอบสวน ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้พ้นจากการเป็นลูกจ้างของจำเลย ใบลาออกของโจทก์ยังไม่มีผล โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้จำเลยออกใบสำคัญแสดงการทำงาน จำเลยไม่ได้กลั่นแกล้งโจทก์จึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายและดอกเบี้ยตามฟ้อง นอกจากนี้มูลเหตุตามฟ้องตั้งฐานว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ซึ่งโจทก์เคยนำคดีมาฟ้องศาลแรงงานกลางมาก่อนแล้วตามคดีหมายเลขดำที่ 9051/2540 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2540 จึงถือว่าโจทก์ทราบการกระทำของจำเลยแล้วตั้งแต่วันดังกล่าวโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2542 พ้นระยะเวลา 1 ปีนับแต่วันทราบเหตุดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริตในการฟ้องคดี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดและอ้างว่าการกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนสัญญาจ้างแรงงานด้วยซึ่งต้องใช้อายุความทั่วไปคือ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ โจทก์ทราบดีว่าจำเลยแต่งตั้งกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชอบกรณีโจทก์ร่วมกับนางอรศิริ เกวี ผู้ช่วยสมุห์บัญชีอนุมัติผ่านเช็คของบริษัทอาร์ทลิงค์ จำกัด (ลูกค้าของจำเลย) ที่ถูกลักไปและมีผู้ปลอมแปลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายและตราประทับของบริษัทแล้วนำมาขึ้นเงินซึ่งโจทก์มีส่วนบกพร่องต่อหน้าที่จริงโจทก์ยื่นใบลาออกต่อจำเลยในระหว่างมีการตั้งกรรมการสอบสวน จำเลยไม่อนุมัติให้โจทก์ลาออกก็เนื่องจากโจทก์มีส่วนรับผิดในเรื่องที่ถูกสอบสวน โจทก์เพิ่งแจ้งแก่จำเลยว่าโจทก์ไปทำงานกับธนาคารแหลมทองจำกัด (มหาชน) และธนาคารแหลมทอง จำกัด (มหาชน) ต้องการใบสำคัญการทำงานเมื่อวันที่ 22 (ที่ถูกเป็นวันที่ 24) กรกฎาคม 2540 เป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์แล้ว จำเลยไม่ได้จงใจกลั่นแกล้งมีคำสั่งพักงานโจทก์ การที่จำเลยออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้โจทก์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2540 รับรองว่าโจทก์ลาออกไปประกอบอาชีพอื่นตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2540 เป็นการรับรองการเป็นพนักงานตามความเป็นจริงถือว่าจำเลยอนุมัติให้โจทก์ลาออกจากงานนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป จำเลยมิได้จงใจกลั่นแกล้งไม่ออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้โจทก์ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ในปัญหาที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ยื่นใบลาออกเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2540 โดยให้มีผลนับตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2540 จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างทันทีที่การจ้างแรงงานสิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 585 แต่จำเลยไม่ออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้โจทก์ตามหน้าที่ กลับมีคำสั่งพักงานโจทก์ย้อนหลัง โดยไม่สั่งใบลาออกภายในกำหนดเวลาอันควรและก่อนวันที่โจทก์กำหนดให้มีผลในใบลาออก พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการจงใจกลั่นแกล้งโจทก์ จำเลยได้ออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้โจทก์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2540 ซึ่งการออกใบสำคัญแสดงการทำงานล่าช้าทำให้โจทก์ไม่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานธนาคารแหลมทอง จำกัด (มหาชน) ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยจากจำเลยนั้น ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ยื่นใบลาออกเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2540 โดยขอลาออกตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2540 เป็นต้นไป เมื่อครบกำหนดตามใบลาออกโจทก์ได้ไปทำงานกับธนาคารแหลมทอง จำกัด (มหาชน) ต่อมาจำเลยได้มีคำสั่งลงวันที่ 30 เมษายน 2540 ให้พักงานโจทก์เพื่อรอผลการสอบสวนโดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 16 เมษายน 2540 โจทก์ได้ขอให้จำเลยออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้เพื่อนำไปแสดงต่อธนาคารแหลมทอง จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2540 แต่จำเลยปฏิเสธ โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางขอให้บังคับจำเลยออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้ จำเลยได้ออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2540 โจทก์จึงถอนฟ้องคดีดังกล่าว เห็นว่า การที่โจทก์ยื่นใบลาออกต่อจำเลยย่อมเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้าง และการเลิกสัญญาจ้างดังกล่าวมีผลในวันที่โจทก์แจ้งไว้ในใบลาออกนั้น กรณีตามคดีนี้การจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 16 เมษายน 2540 เมื่อการจ้างสิ้นสุดลงแล้วโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างชอบที่จะได้รับใบสำคัญแสดงว่าโจทก์ได้ทำงานมานานเท่าไรและงานที่ทำนั้นเป็นงานอย่างไรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 585 ดังนั้น จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างย่อมมีหน้าที่ต้องออกใบสำคัญแสดงการทำงานซึ่งมีข้อความดังกล่าวข้างต้นให้แก่โจทก์ในวันที่การจ้างสิ้นสุดลง ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยได้มีคำสั่งไม่อนุมัติให้โจทก์ลาออกแต่ให้พักงานและตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวน ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้พ้นจากการเป็นลูกจ้างของจำเลย ใบลาออกของโจทก์ยังไม่มีผล โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้จำเลยออกใบสำคัญแสดงการทำงานนั้นเป็นข้ออ้างที่ไม่มีบทกฎหมายใดสนับสนุนทั้งการเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้นนายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมตกลงหรืออนุมัติแต่อย่างใด ข้ออ้างของจำเลยจึงไม่มีเหตุผลที่ชอบด้วยกฎหมายในอันที่จะประวิงการออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้แก่โจทก์ได้ จำเลยออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 6ตุลาคม 2540 ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายที่อ้างถึงข้างต้น จำเลยต้องรับผิดต่อความเสียหายอันเกิดแต่การกระทำดังกล่าว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น แต่ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยในข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยเพียงใดหรือไม่ จึงเห็นสมควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาในปัญหาดังกล่าว”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาและวินิจฉัยในประเด็นเรื่องค่าเสียหายแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share