คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1907/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องในข้อกำหนดโทษ แต่พิพากษาแก้ให้รอการลงโทษไว้ เช่นนี้ ถือว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากโจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ที่แก้ไขใหม่ซึ่งบัญญัติความว่า ข้อเท็จจริงที่จะยกขึ้นอ้างอิงในการยื่นอุทธรณ์ จะต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นนั้น หมายถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับประเด็นในคดีโดยตรง อุทธรณ์ของจำเลยไม่ได้ยกข้อเท็จจริงขึ้นโต้เถียงว่าไม่ได้กระทำผิด แต่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับผู้ตายและความจำเป็นเพื่อขอให้ศาลลงโทษจำคุกสถานเบาหรือรอการลงโทษ จึงอุทธรณ์ดังกล่าวได้ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจที่พิจารณารับฟังหรือไม่รับฟังได้แล้วแต่ดุลพินิจทั้งไม่มีกฎหมายบัญญัติห้าม ศาลมิให้ใช้ดุลพินิจให้เป็นคุณแก่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถจักรยานยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถของจำเลยถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 29(4), 66 พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2508 มาตรา 7, 13 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 59 ข้อ 11 และให้เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 29(4), 66 พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2508 มาตรา 7, 13 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 59 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 ข้อ 11 ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 อันเป็นบทหนัก จำคุก 4 ปี จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี และเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย

จำเลยอุทธรณ์ว่า กระทำผิดเป็นครั้งแรก ผู้ตายเป็นน้องเขยจำเลย อยู่บ้านเดียวกับจำเลยและทำงานที่เดียวกัน ขณะเกิดเหตุผู้ตายนั่งซ้อนท้ายรถจำเลยไปทำงาน หลังเกิดเหตุจำเลยได้ช่วยเหลือภรรยาผู้ตายด้านการเงิน จำเลยยังต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาภรรยาและบุตรอีก ทั้งภรรยาผู้ตายไม่ติดใจเอาความกับจำเลย ปรากฏตามคำร้องของภรรยาผู้ตายแนบท้ายอุทธรณ์ ขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยสถานเบาหรือรอการลงโทษ และเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยเพียงชั่วคราว

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปีไม่ถอนใบอนุญาตขับขี่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยเมื่อลดฐานรับสารภาพแล้วจำคุก 2 ปี และไม่รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องในข้อกำหนดโทษแต่พิพากษาแก้ให้รอการลงโทษไว้ เช่นนี้ ถือว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218

ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ของจำเลย จำเลยเพิ่งยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจจะหยิบยกเอาข้อเท็จจริงซึ่งจำเลยมิได้ยกขึ้นอ้างอิงในศาลชั้นต้น มารับฟังรอการลงโทษให้จำเลยได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ที่แก้ไขใหม่ซึ่งบัญญัติความว่า ข้อเท็จจริงที่จะยกขึ้นอ้างอิงในการยื่นอุทธรณ์ จะต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น หมายถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับประเด็นในคดีโดยตรง แต่อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวไม่ได้ยกข้อเท็จจริงขึ้นโต้เถียงว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิดแต่อย่างใด แต่จำเลยอุทธรณ์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับผู้ตายและความจำเป็น เพื่อขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาลงโทษจำคุกจำเลยสถานเบาหรือรอการลงโทษ ซึ่งจำเลยมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ดังกล่าวได้ และศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจที่พิจารณารับฟังหรือไม่รับฟังได้แล้วแต่ดุลพินิจ ทั้งไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามศาลมิให้ใช้ดุลพินิจให้เป็นคุณแก่จำเลย สำหรับคดีนี้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้รอการลงโทษจำเลยนั้น เหมาะสมกับรูปคดีแล้ว

พิพากษายืน

Share