แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางพิเศษ มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 23วรรคท้าย ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยทางหลวงในส่วนที่ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงมาใช้บังคับโดยอนุโลม และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28พฤศจิกายน 2515 เกี่ยวกับเงินค่าทดแทนในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวง บัญญัติไว้ในข้อ 76 ว่า “เงินค่าทดแทนนั้น ถ้าไม่มีบทบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งออกตามข้อ 63 แล้วให้กำหนดเท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันดังต่อไปนี้ (1) ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับในกรณีที่ได้ตราพระราชกฤษฎีกาเช่นว่านั้น ฯลฯ” จำเลยจะกำหนดเงินค่าทดแทนให้ต่ำกว่านี้โดยถือตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินหาได้ไม่ การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนที่ดินจากจำเลยเป็นคดีนี้ มีมูลเหตุมาจากที่ดินโจทก์ถูกเวนคืน มูลคดีจึงเกิดขึ้นที่ที่ดินโจทก์ตั้งอยู่ การที่ศาลแพ่งธนบุรีซึ่งที่ดินโจทก์ตั้งอยู่ในเขตศาลอนุญาตให้โจทก์ฟ้องคดีได้นั้นชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินของโจทก์สองแปลงถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตบางขุนเทียนเขตราษฎร์บูรณะ และเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2525เพื่อสร้างทางพิเศษสายดาวคะนอง-ท่าเรือ จำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์รวมเป็นเงิน 697,250 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่เป็นธรรมและไม่ได้คำนวณจากราคาซื้อขายในท้องตลาดขณะเวนคืนตามกฎหมายขอให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนส่วนที่ขาดจำนวน 1,617,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ
จำเลยให้การว่า ค่าทดแทนที่จำเลยชดใช้ให้แก่โจทก์เป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว และตามฟ้องโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องให้บังคับจำเลยรับผิดเกี่ยวด้วยหนี้เหนือบุคคลโจทก์ชอบที่จะเสนอคำฟ้องต่อศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขต และมูลคดีที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าทดแทนเพิ่มขึ้น เกิดขึ้นที่ภูมิลำเนาของจำเลยผู้เวนคืน มิได้เกิดขึ้นในเขตที่ที่ดินตั้งอยู่ที่โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตฟ้องคดีต่อศาลแพ่งธนบุรีและศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งอนุญาตให้รับฟ้องไว้พิจารณาจึงไม่ชอบ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน889,550 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่2 พฤษภาคม 2525 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้นอีก 99,300 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2525 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์จำเลยนำสืบว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2649 และเลขที่ 2645 ตั้งอยู่แขวงราษฎร์บูรณะ (ราษฎร์บูรณะตะวันออก)เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 44 ตารางวา และ 331ตารางวา ตามลำดับ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2525 กระทรวงมหาดไทยออกประกาศให้สร้างทางพิเศษสายดาวคนอง-ท่าเรือซึ่งจะต้องผ่านที่ดินในท้องที่เขตบางขุนเทียน เขตราษฎร์บูรณะและเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร ปรากฏตามประกาศเอกสารหมาย ล.5 ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณท้องที่ดังกล่าวเป็นบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษสายดังกล่าว ใช้บังคับวันที่2 พฤษภาคม 2525 ปรากฏตามพระราชกฤษฎีกาเอกสารหมาย ล.6ที่ดินโจทก์ทั้งสองแปลงอยู่ในบริเวณที่ที่จะถูกเวนคืน จำเลยได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองแปลงเป็นสองราคา ที่ดินโฉนดเลขที่ 2649 ในส่วนที่ติดถนนสุขสวัสดิ์ระยะ 20 เมตร กำหนดค่าทดแทนให้ตารางวาละ 11,000 บาท ที่ดิน 36 ตารางวา เป็นเงิน 396,000 บาทในส่วนถัดไปอีก 8 ตารางวา กำหนดให้ตารางวาละ 5,200 บาท เป็นเงิน41,600 บาท รวมเป็นค่าทดแทนที่ดินแปลงนี้ 437,600 บาท ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 2645 อยู่ติดซอย กำหนดค่าทดแทนระยะ 20 เมตร ตารางวาละ900 บาท ที่ดิน 178 ตารางวาเป็นเงิน 160,200 บาท ที่ดินในส่วนถัดไปกำหนดค่าทดแทนตารางวาละ 650 บาท ที่ดิน 153 ตารางวา เป็นเงิน99,450 บาท รวมเป็นค่าทดแทนสำหรับที่ดินแปลงนี้ 259,650 บาทและรวมเป็นค่าทดแทนที่จำเลยชดใช้ให้แก่โจทก์ทั้งสิ้น 697,250 บาท
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาข้อแรกที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าที่ดินโจทก์มีราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดเท่าใด ในข้อนี้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2515 ข้อ23 วรรคสุดท้าย ความว่า การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางพิเศษ ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยทางหลวงในส่วนที่ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงมาใช้บังคับโดยอนุโลม และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน2515 เกี่ยวกับเงินค่าทดแทนในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวง บัญญัติไว้ในข้อ 76 ว่า “เงินค่าทดแทนนั้น ถ้าไม่มีบทบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งออกตามข้อ 63 แล้ว ให้กำหนดเท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันดังต่อไปนี้
(1) ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับในกรณีที่ได้ตราพระราชกฤษฎีกาเช่นว่านั้น ฯลฯ”ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 2649 ของโจทก์อยู่ติดถนนสุขสวัสดิ์กว้างขนาด 4 ช่องทางเดินรถ ตรงกลางมีเกาะกลางถนนไฟฟ้าและน้ำประปาเข้าถึง เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2523 ธนาคารกรุงเทพจำกัด ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 4420 ซึ่งอยู่ติดถนนสุขสวัสดิ์ห่างจากที่ดินโฉนดเลขที่ 2649 ของโจทก์ประมาณ 400 เมตร จากนายเสริมโรหิตเสถียร ในราคาตารางวาละประมาณ 15,000 บาท วันที่ 9กรกฎาคม 2524 ธนาคารกสิกรไทย จำกัด ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่3035 ซึ่งอยู่ติดถนนสุขสวัสดิ์ห่างจากที่ดินโฉนดเลขที่ 2649 ของโจทก์ ประมาณ 800 เมตร จากนางละม่อม สุทธิวรรณ กับพวกในราคาตารางวาละ 35,000 บาท และยังมีเจ้าของที่ดินรายอื่นที่อยู่ใกล้เคียงขายที่ดินพร้อมตึกแถวไป เมื่อคิดหักราคาตึกแถวออกแล้วราคาที่ดินที่ขายตารางวาละ 18,000 บาทขึ้นไป จึงรับฟังได้ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 2649 ของโจทก์มีราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 15,000 บาท ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 2645 ของโจทก์นั้น มีทำเลดีกว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2364 และเลขที่ 24874 ของนางวัลลีย์ นันทวะกุล ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน เพราะที่ดินของโจทก์มีทางออกสู่ถนนสุขสวัสดิ์ ส่วนที่ดินของนางวัลลีย์ไม่มีทางออกสู่ถนนสุขสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2524 นางวัลลีย์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 2364 จากนางจารุวรรณ นิติโรจน์ และที่ดินโฉนดเลขที่24784 จากนายจุมพฎ วิริยศิริ ในราคาตารางวาละ 2,800 บาท และจำเลยกำหนดค่าทดแทนให้แก่นางวัลลีย์ในราคาดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 2645 ของโจทก์มีราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดสูงกว่าตารางวาละ 2,800 บาท ศาลอุทธรณ์กำหนดเงินค่าทดแทนราคาที่ดินโฉนดเลขที่ 2649 ของโจทก์ตารางวาละ 15,000บาท และที่ดินโฉนดเลขที่ 2645 ของโจทก์ตารางวาละ 3,100 บาทจึงเหมาะสมแล้ว จำเลยจะกำหนดเงินค่าทดแทนให้ต่ำกว่านี้โดยถือตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินหาได้ไม่
ปัญหาข้อต่อไปที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าคดีนี้มูลคดีเกิดขึ้นที่ใด เห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนที่ดินจากจำเลยเป็นคดีนี้ มีมูลเหตุมาจากที่ดินโจทก์ถูกเวนคืนมูลคดีจึงเกิดขึ้นที่ที่ดินโจทก์ตั้งอยู่ การที่ศาลแพ่งธนบุรีซึ่งที่ดินโจทก์ตั้งอยู่ในเขตศาลอนุญาตให้โจทก์ฟ้องคดีได้นั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน