แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหมายเรียกโดยแจ้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของศาลให้จำเลยทั้งสองแล้ว โดยการปิดหมายที่ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 18พฤษภาคม 2531 และ 21 กรกฎาคม 2531 ตามลำดับ กรณีถือได้ว่าเป็นการส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยทั้งสองโดยชอบแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ ก็จะต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลภายในกำหนด 15 วันนับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2531 และ 5 สิงหาคม 2531 ตามลำดับ ซึ่งเป็นวันที่การส่งหมายแจ้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดให้แก่จำเลยทั้งสองมีผล แต่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ในวันที่ 31ตุลาคม 2531 จึงเกินกำหนด 15 วัน ล่วงพ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว และตามคำร้องขอของจำเลยทั้งสองก็ไม่มีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ประการใด จำเลยทั้งสองย่อมไม่มีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 208 ประกอบด้วย พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย จำเลยทั้งสองไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวแล้วมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 16 มีนาคม2531 และต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหมายเรียกไปยังจำเลยทั้งสองเพื่อให้ไปให้การเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินโดยปิดหมายดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2531 และวันที่21 กรกฎาคม 2531 ที่ภูมิลำเนาตามฟ้องของโจทก์ ในหมายเรียกดังกล่าวเป็นการแจ้งระบุชัดว่าจำเลยทั้งสองถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและตามหนังสือเรื่องขอตรวจสอบหลักฐานทะเบียนและคัดสำเนาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ปรากฏชัดว่าจำเลยทั้งสองยังคงมีภูมิลำเนาอยู่ตามที่โจทก์ฟ้อง ได้ความดังกล่าว เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 6 บัญญัติคำว่า”พิพากษา” หมายความถึงการที่ศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีโดยทำเป็นคำสั่ง และมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวก็บัญญัติว่า”คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ให้ถือเสมือนว่า เป็นหมายของศาลให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ายึดดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารของลูกหนี้ และบรรดาทรัพย์สินซึ่งอยู่ในความครอบครองของลูกหนี้หรือของผู้อื่นอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย…ฯลฯ…” ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหมายเรียกโดยแจ้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของศาลให้จำเลยทั้งสองแล้วโดยการปิดหมายที่ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2531และเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2531 ตามลำดับ กรณีถือได้ว่าเป็นการส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยทั้งสองโดยชอบแล้วเมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ก็จะต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2531และวันที่ 5 สิงหาคม 2531 ตามลำดับ ซึ่งเป็นวันที่การส่งหมายแจ้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดให้แก่จำเลยทั้งสองมีผล แต่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2531 จึงเกินกำหนด15 วันล่วงพ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว และตามคำร้องขอของจำเลยทั้งสองก็ไม่มีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ประการใดจำเลยทั้งสองย่อมไม่มีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153
พิพากษายืน