คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1907/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำขอท้ายฟ้องโจทก์ที่ว่า ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 มาตรา 362, 364 นั้น แม้จะมีคำว่า “พ.ศ. 2499” เกินมาก็ย่อมเห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญานั่นเอง ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญาได้
ในคดีอาญา แม้กฎหมายจะกำหนดให้ศาลไปทำการตรวจพยานวัตถุที่ไม่สามารถนำมาศาลได้ไว้ก็ตาม แต่ถ้าศาลเห็นว่าไม่จำเป็น ก็อาจใช้ดุลพินิจสั่งงดเสียได้
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยเข้าไปในบ้านอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์เพื่อถือการครอบครองบ้านนั้น การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 กรณีไม่จำต้องปรับบทด้วยมาตรา 364 อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยและบริวารได้บังอาจเข้าไปในบ้านเลขที่ ๕ ซึ่งเป็นบ้านของโจทก์ และได้เข้าครอบครองบ้านนี้ในขณะที่โจทก์ไม่อยู่ต่อมาโจทก์ไปตรวจดูจึงพบโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยและบริวารออกจากบ้านแต่จำเลยไม่ยอมออกขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๓๖๒, ๓๖๔
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๖๒, ๓๖๔ ความผิดตามมาตรา ๓๖๒ ให้จำคุก ๑ เดือน ปรับ ๑,๐๐๐ บาท ความผิดตามมาตรา ๓๖๔ ให้จำคุก ๑ เดือน ปรับ ๑,๐๐๐ บาทรวมสองกระทงเป็น จำคุกจำเลย ๒ เดือน ปรับ ๒,๐๐๐ บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ ๒ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบทพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒, ๓๖๔ ให้ลงโทษตามมาตรา ๓๖๒ บทเดียว จำคุก ๑ เดือน ปรับ ๑,๐๐๐ บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ ๒ ปี
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะฎีกาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า ตามที่ศาลชั้นต้นงดเผชิญสืบบ้านพิพาท จำเลยไม่เห็นพ้องด้วย เพราะตามกฎหมายกำหนดให้ศาลไปตรวจ และการเผชิญสืบบ้านพิพาทก็ไม่เป็นการฟุ่มเฟือยเกินสมควรศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยเบิกความว่าบ้านพิพาทเป็นของนายโอภาสพี่ชายจำเลย จำเลยเข้าอยู่โดยอาศัยสิทธิของนายโอภาส ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ ไม่ใช่ของนางอินมารดาหรือนายโอภาสบุตร ฉะนั้น จึงไม่มีประโยชน์แก่คดีจำเลยอย่างไรที่จะต้องไปตรวจบ้านพิพาท เพราะแม้จะไปดูบ้านพิพาท ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยชนะคดีได้ที่ศาลชั้นต้นสั่งงดการไปตรวจบ้านพิพาทนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย และแม้กฎหมายจะกำหนดให้ศาลไปทำการตรวจพยานวัตถุที่ไม่สามารถนำมาศาลได้ไว้ก็ดีแต่ถ้าศาลเห็นว่าไม่จำเป็นก็อาจใช้ดุลพินิจสั่งงดเสียได้ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาว่า ศาลจะนำประมวลกฎหมายอาญามาลงโทษจำเลยไม่ได้เพราะโจทก์ไม่ได้ขอมาท้ายฟ้อง ศาลฎีกาเห็นว่า แม้คดีนี้โจทก์ขอมาท้ายฟ้องว่าประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๔๙๙ ซึ่งมีคำว่า พ.ศ. ๒๔๙๙ เกินมาก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญานั่นเอง ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญาได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่าจำเลยเข้าไปในบ้านอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์เพื่อถือการครอบครองบ้านนั้นและพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒, ๓๖๔ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา ๓๖๒ แล้ว กรณีก็ไม่จำต้องปรับบทด้วยมาตรา ๓๖๔ อีกจึงชอบที่จะแก้เสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้ เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share