คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11320/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกันโดยทั้งสองฝ่ายต่างรู้อยู่แล้วว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี แม้สัญญาซื้อขายที่ดินจะกำหนดไปจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองกันในวันพ้นระยะเวลาห้ามโอนก็ตาม ก็เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะ การยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 จึงถือว่าเป็นการครอบครองไว้แทนโจทก์ที่ 1
การที่จำเลยที่ 1 กรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้ไว้ขณะที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อปลอมชื่อโจทก์ทั้งสองในการรับรองสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาบัตรข้าราชการของโจทก์ทั้งสองแล้วนำเอกสารดังกล่าวพร้อมกับหนังสือให้ความยินยอมของโจทก์ที่ 2 ในการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาซื้อขายจากชื่อของโจทก์ที่ 1 มาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 นั้นก็เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ที่ตกลงกันในสัญญาซื้อขายไว้แต่เดิม เป็นกระทำภายในขอบอำนาจที่โจทก์ที่ 1 มอบให้ไว้แต่เดิม และเอกสารที่รับรองก็เป็นเอกสารที่แท้จริง การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็หาทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายแต่อย่างใดไม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91, 264, 267, 268
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ประทับฟ้อง จำเลยอื่นให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก เพียงกระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 1 ปี ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลง โทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่กรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจและลงลายมือชื่อปลอมชื่อโจทก์ทั้งสองในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับเพื่อดำเนินการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทตามสัญญาที่เป็นโมฆะนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง อันเป็นความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า การที่โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกันโดยทั้งสองฝ่ายต่างรู้อยู่แล้วว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี แม้สัญญาซื้อขายที่ดินจะกำหนดไปจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองกันในวันพ้นระยะเวลาห้ามโอนก็ตาม ก็เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะ การยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 จึงถือว่าเป็นการครอบครองไว้แทนโจทก์ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 กรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจ ตลอดจนลงลายมือชื่อปลอมชื่อโจทก์ทั้งสองในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาบัตรข้าราชการของโจทก์ทั้งสองเพื่อดำเนินการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินตามสัญญาที่เป็นโมฆะ ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมดังที่โจทก์ทั้งสองฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า แม้การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 จะเป็นโมฆะก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตลอดมาจนล่วงเลยระยะเวลาห้ามโอนเป็นเวลาหลายปีจนปัจจุบันที่ดินดังกล่าวได้มีการออกโฉนดที่ดินแล้วถือว่าโจทก์ที่ 1 สละเจตนาครอบครองที่ดินนับแต่วันที่ล่วงพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอนการครอบครองที่ดินของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตน ย่อมได้สิทธิครอบครองถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินแทนโจทก์ที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 นำเอกสารสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ที่ 1 สำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการของโจทก์ที่ 2 และหนังสือมอบอำนาจไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทจากชื่อของโจทก์ที่ 1 มาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ก็เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของคู่สัญญาที่ตกลงกันไว้แต่เดิม ซึ่งโจทก์ที่ 2 สามีโจทก์ที่ 1 ก็ได้ยินยอมและรับทราบการซื้อขายที่ดินมาตั้งแต่ต้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่ได้ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายและไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตามที่โจทก์ทั้งสองฟ้อง เห็นว่า ข้อเท็จจริงยุติแล้วว่า การที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้ไว้ขณะที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อปลอมชื่อโจทก์ทั้งสองในการรับรองสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาบัตรข้าราชการของโจทก์ทั้งสองแล้วนำเอกสารดังกล่าวพร้อมกับหนังสือให้ความยินยอมของโจทก์ที่ 2 ในการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาซื้อขายจากชื่อของโจทก์ที่ 1 มาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 นั้นก็เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ที่ตกลงกันในสัญญาซื้อขายไว้แต่เดิม โดยได้ความว่าในวันที่ทำสัญญาซื้อขาย จำเลยที่ 1 ได้ชำระราคาที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 1 ครบถ้วนแล้วโจทก์ที่ 1 จึงลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจพร้อมกับมอบเอกสารบัตรประจำตัวประชาชนและบัตรประจำตัวข้าราชการของโจทก์ทั้งสองกับหนังสือให้ความยินยอมในการซื้อขายที่ดินของโจทก์ที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 1 ไว้ล่วงหน้าเพื่อให้ไปดำเนินการโอนที่ดินแปลงดังกล่าวด้วยตนเองเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอนแล้ว แม้การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 จะเป็นโมฆะก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 กรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 รวมทั้งได้ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาบัตรข้าราชการของโจทก์ทั้งสองนั้น ก็ได้กระทำภายในขอบอำนาจที่โจทก์ที่ 1 มอบให้ไว้แต่เดิม และเอกสารที่รับรองก็เป็นเอกสารที่แท้จริง ทั้งนี้เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการมอบอำนาจของโจทก์ที่ 1 ที่ให้ไว้ ซึ่งโจทก์ที่ 1 มีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญาซื้อขายในขณะนั้น จำเลยที่ 1 หาได้กรอกข้อความผิดไปจากวัตถุประสงค์ของการมอบอำนาจ อีกทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ได้ยกเลิกหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวแต่อย่างใดด้วย ประกอบกับเอกสารที่ลงลายมือชื่อรับรองก็เป็นเอกสารที่ถูกต้องแท้จริง ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็หาทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายแต่อย่างใดไม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมดังที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 มานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share