คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1906/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทรัพย์พิพาทของลูกหนี้ติดจำนองอยู่แก่ผู้คัดค้านที่3ผู้คัดค้านที่1และที่2ซื้อทรัพย์พิพาทจากลูกหนี้โดยกู้เงินจากผู้คัดค้านที่3เท่ากับยอดเงินต้นที่ลูกหนี้ค้างชำระแก่ผู้คัดค้านที่3นำไปชำระราคาทรัพย์พิพาทส่วนหนึ่งแล้วลูกหนี้ได้นำเงินไปไถ่ถอนจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้คัดค้านที่1และที่2จากนั้นผู้คัดค้านที่1และที่2ได้จดทะเบียนจำนองทรัพย์พิพาทเป็นประกันหนี้เงินกู้ดังกล่าวแก่ผู้คัดค้านที่3ในวันเดียวกันมีลักษณะเป็นการเปลี่ยนตัวผู้จำนองจากลูกหนี้มาเป็นผู้คัดค้านที่1และที่2ซึ่งแม้จะไม่เปลี่ยนตัวผู้จำนองสิทธิจำนองก็ย่อมติดไปกับตัวทรัพย์พิพาทอยู่แล้วทั้งจำนวนเงินจำนองที่เปลี่ยนไปก็ลดลงจากเดิมไม่ก่อให้เกิดสิทธิเพิ่มขึ้นแก่ผู้คัดค้านที่3หรือทำให้เจ้าหนี้ของลูกหนี้เสียหายแต่อย่างใดฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่3รับจำนองโดยสุจริตแม้ศาลจะเพิกถอนการโอนระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่1และที่2ก็ไม่กระทบถึงสิทธิของผู้คัดค้านที่3ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกอันได้มาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา116 การเพิกถอนการโอนเป็นไปโดยผลของคำสั่งหรือคำพิพากษาตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนการโอนก็ยังคงถือว่าเป็นการโอนโดยชอบอยู่จึงถือไม่ได้ว่ามีการผิดนัดนับแต่วันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนอันจะเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านที่1และที่2ต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยนับแต่วันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องผู้ร้องคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนเท่านั้นปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142(5)ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา153

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการโอน และการจำนองที่ดินและตึกแถวพิพาท หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ราคาที่ดินและตึกแถวเป็นเงิน540,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านทั้งสามให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 97342พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2โดยให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 540,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้อง (วันที่ 12 กันยายน 2533) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ กับให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 3 ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 114, 116
ผู้คัดค้านทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ขณะที่มีการซื้อขายทรัพย์พิพาทกันนั้นผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าลูกหนี้เป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว และเหตุที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ตกลงซื้อทรัพย์พิพาทก็โดยเจตนาช่วยเหลือมิให้ทรัพย์พิพาทถูกเจ้าหนี้ยึดไปบังคับชำระหนี้นั่นเอง จึงถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 กระทำการโดยสุจริตมีเหตุที่จะเพิกถอนการโอนทรัพย์พิพาทระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 114 สำหรับผู้คัดค้านที่ 3 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2526 ลูกหนี้ได้กู้เงินผู้คัดค้านที่ 3จำนวน 400,000 บาท แล้วจดทะเบียนจำนองทรัพย์พิพาทไว้เป็นประกัน ซึ่งเมื่อคำนวณถึงเดือนกรกฎาคม 2529 ที่ลูกหนี้โอนขายทรัพย์พิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 แล้ว ปรากฏว่าลูกหนี้ค้างชำระเงินต้นอยู่จำนวน 387,000 บาท กับค้างชำระดอกเบี้ยอีกประมาณ 130,000 บาท ในการซื้อขายทรัพย์พิพาทระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ก็กระทำโดยผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 กู้เงินจากผู้คัดค้านที่ 3 เท่ากับยอดเงินต้นที่ลูกหนี้ค้างชำระนำไปชำระราคาทรัพย์พิพาทส่วนหนึ่งแล้วลูกหนี้ได้นำเงินไปชำระแก่ผู้คัดค้านที่ 3 เพื่อไถ่ถอนจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จากนั้นผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองทรัพย์พิพาทเป็นประกันหนี้เงินกู้ดังกล่าวแก่ผู้คัดค้านที่ 3 ในวันเดียวกันมีลักษณะเป็นการเปลี่ยนตัวผู้จำนองจากลูกหนี้มาเป็นผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ซึ่งแม้จะไม่เปลี่ยนตัวผู้จำนองดังกล่าว สิทธิจำนองก็ย่อมติดไปกับตัวทรัพย์พิพาทอยู่แล้วทั้งจำนวนเงินจำนองที่เปลี่ยนไปก็ลดลงจากเดิมไม่ก่อให้เกิดสิทธิเพิ่มขึ้นแก่ผู้คัดค้านที่ 3 หรือทำให้เจ้าหนี้ของลูกหนี้เสียหายแต่อย่างใด ฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 3 รับจำนองโดยสุจริตแม้ศาลจะเพิกถอนการโอนระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ 1และที่ 2 ก็ไม่กระทบถึงสิทธิของผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกอันได้มาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 116
อนึ่ง ในกรณีที่เพิกถอนการโอนแล้วไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิม ที่ผู้ร้องขอให้ชดใช้ราคาทรัพย์พิพาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันที่ยื่นคำร้องนั้น เห็นว่า การเพิกถอนการโอนเป็นไปโดยผลของคำสั่งหรือคำพิพากษาตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนการโอนก็ยังคงถือว่าเป็นการโดยชอบอยู่ จึงถือไม่ได้ว่ามีการผิดนัดนับแต่วันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการโอน อันจะเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยนับแต่วันที่ผู้ร้องยื่นคำร้อง ผู้ร้องคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนเท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่97342 ตำบลสีกัน (บ้านใหม่) อำเภอบางเขน (ตลาดขวัญ)กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ 1และที่ 2 โดยให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ราคาเป็นเงิน 540,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share