คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1903/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 มุ่งประสงค์ลงโทษผู้ที่ขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ไม่ยอมเลิกการมั่วสุมกันเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ซึ่งเป็นการกระทำที่ยังไม่ถึงขึ้นที่ผู้กระทำได้ลงมือใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญ หรือทำให้เกิดความวุ่นวายอันเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 215 ดังนั้น มาตรา 216 จึงเป็นความผิดต่างหากอีกบทหนึ่งหากเจ้าพนักงานได้มีคำสั่งให้เลิกแล้ว แต่ผู้กระทำไม่เลิกตามคำสั่งของเจ้าพนักงานและได้กระทำการต่อไปจนเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 215 ผู้กระทำก็ย่อมมีความผิดทั้งตามมาตรา 215 และมาตรา 216 อันเป็นกรรมเดียวกัน
ฟ้องโจทก์บรรยายว่า ข้อ (1) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2529 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสี่กับพวกร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองและร่วมกันใช้ก้อนอิฐ ก้อนหิน และวัตถุของแข็งเป็นอาวุธขว้างปาประทุษร้ายเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองจังหวัดภูเก็ต ในขณะที่ทำการห้ามปรามมิให้มีการขว้างปาทำลายศาลาประชาคมกับขว้างปาเผาทำลายโรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน และ โรงงานไทยแลนด์แทนทาลั่ม อินดัสตรี จำกัด ข้อ (2) เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองจังหวัดภูเก็ตสั่งให้จำเลยทั้งสี่กับพวกที่มั่วสุมเพื่อกระทำผิดตามฟ้องข้อ (1) ให้เลิกไป แต่จำเลยกับพวกดังกล่าวไม่ยอมเลิก ดังนี้ ตามฟ้องข้อ (1) เป็นการบรรยายฟ้องในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 ส่วนฟ้อง ข้อ 2 เป็นการบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 ซึ่งตามฟ้องข้อ (2) นี้มีความหมายเพียงว่า เจ้าพนักงานได้มีคำสั่งให้เลิกในขณะที่จำเลยกับพวกกำลังมั่วสุมกันเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 เท่านั้น ข้อความตามฟ้องข้อ (2) มิได้มีความหมายว่า ในขณะที่เจ้าพนักงานได้มีคำสั่งให้เลิกนั้น จำเลยกับพวกได้ลงมือกระทำการครบถ้วนตามฟ้องข้อ (1) อันเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 215 แล้ว ดังนั้น การที่จำเลยได้กระทำการต่อไปตามฟ้องข้อ (1) โดยไม่เลิกตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน จำเลยย่อมมีความผิดตามมาตรา 215 อีกบทหนึ่ง อันเป็นกรรมเดียวกับความผิดตามมาตรา 216 ตามฟ้องข้อ (2) และต้องลงโทษตามมาตรา 216 อันเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๙๑, ๒๑๕, ๒๑๖ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๒๖ มาตรา ๔ และริบของกลาง
จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๑๕, ๒๑๖, ๘๓ การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๑๖ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกคนละ ๑ ปี จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยคนละ ๖ เดือน ริบของกลางทั้งหมด
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่เป็นสองกรรม
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จากคำบรรยายฟ้องของโจทก์ การกระทำของจำเลยกับพวกดังกล่าวเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๑๕ เพียงบทเดียว ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๑๖ อีกบทหนึ่ง พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๑๕ วรรคสอง เพียงบทเดียว ส่วนโทษจำคุกคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และริบของกลาง
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่เป็นสองกรรม
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามคำบรรยายฟ้องเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า มาตรา ๒๑๖ มุ่งประสงค์ลงโทษผู้ที่ขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ไม่ยอมเลิกการมั่วสุมกันเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา ๒๑๕ ซึ่งเป็นการกระทำที่ยังไม่ถึงขั้นที่ผู้กระทำได้ลงมือใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญหรือทำให้เกิดความวุ่นวายอันเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา ๒๑๕ ดังนั้นมาตรา ๒๑๖ จึงเป็นความผิดต่างหากอีกบทหนึ่ง ด้วยเหตุนี้หากเจ้าพนักงานได้มีคำสั่งให้เลิกแล้ว แต่ผู้กระทำไม่เลิกตามคำสั่งของเจ้าพนักงานและได้กระทำการต่อไปจนเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา ๒๑๕ ผู้กระทำก็ย่อมมีความผิดทั้งมาตรา ๒๑๕ และมาตรา ๒๑๖ อันเป็นกรรมเดียวที่เกิดจากการมั่วสุมและไม่เลิกตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ซึ่งเป็นเจตนาเดียวกัน คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องแยกเป็นข้อต่างหากจากกันโดยในข้อ ๑. โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๒๙ เวลากลางวัน จำเลยทั้งสี่กับพวกร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองและร่วมกันใช้ก้อนอิฐ ก้อนหิน และวัตถุของแข็งเป็นอาวุธขว้างปาประทุษร้ายเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองจังหวัดภูเก็ต ในขณะที่ทำการห้ามปรามมิให้มีการขว้างปาทำลายศาลาประชาคมกับขว้างปาเผาทำลายโรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน และโรงงานไทยแลนด์แทนทาลั่ม อินดัสตรี จำกัด ซึ่งเป็นการบรรยายฟ้องในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๑๕ ส่วนฟ้องข้อ ๒ โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองจังหวัดภูเก็ต สั่งให้จำเลยทั้งสี่กับพวกที่มั่วสุมเพื่อกระทำผิดตามฟ้องข้อ ๑. ให้เลิกไป แต่จำเลยกับพวกดังกล่าวไม่ยอมเลิก อันเป็นการบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๑๖ ซึ่งตามคำฟ้องข้อ ๒. ดังกล่าวมานี้ย่อมมีความหมายเพียงว่า เจ้าพนักงานได้มีคำสั่งให้เลิกในขณะที่จำเลยกับพวกกำลังมั่วสุมกับเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา ๒๑๕ เท่านั้น ข้อความตามคำฟ้องนี้ไม่อาจแปลความได้ว่าในขณะที่เจ้าพนักงานได้มีคำสั่งให้เลิกนั้น จำเลยกับพวกได้ลงมือกระทำการครบถ้วนอันเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา ๒๑๕ แล้ว ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย การที่จำเลยได้กระทำการต่อไปจนเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา ๒๑๕ โดยไม่เลิกตามคำสั่งเจ้าพนักงานย่อมมีความผิดตามมาตรา ๒๑๕ อีกบทหนึ่ง อันเป็นกรรมเดียวกันความผิดตามมาตรา ๒๑๖ จึงต้องลงโทษตามมาตรา ๒๑๖ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๑๕ วรรคสอง เพียงบทเดียว จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา และการกระทำของจำเลยทั้งสี่หาเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๑๕ วรรคสอง, ๒๑๖, ๘๓ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๑๖ ซึ่ง เป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา ๙๐ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share