แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หน้าฟ้องข้อหาว่า ผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้เข็ด คำบรรยายฟ้องก็ชัดแจ้งว่าจำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงินโดยมีเจตนาจะมิให้มีการใช้เงินตามเช็ค แก่ในช่องกฎหมายและบทมาตราที่โจทก์ถือว่าจำเลยกระทำความผิดนั้นลงไว้แต่เพียงว่า มาตรา 3(1) (3) (5) ดังนี้ เมื่อมีพฤติการณ์แสดงว่าน่าจะเนื่องจากความพลั้งเผลอ โจทก์จึงมิได้พิมพ์หรือเขียนชื่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ลงข้างหน้ามาตรา และหากให้โจทก์ทำเสียให้ครบบริบูรณ์ก็ไม่ทำให้จำเลยเสียหายแล้ว ศาลย่อมสั่งให้โจทก์แก้ไขคำขอท้ายฟ้องให้ครบบริบูรณ์ (คดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธ แล้วแถลงข้อบกพร่องนี้ก่อนสืบพยานโจทก์)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินแก่โจทก์ โจทก์นำเช็คไปขอรับเงิน ธนาคารส่งเช็คคืนโจทก์โดยอ้างว่าจำเลยได้สั่งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยกระทำโดยมีเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค และจำเลยก็ไม่มีเงินในบัญชีพอจ่าย ขอให้ลงโทษตามมาตรา ๓ (๑)(๓)(๕)
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วสั่งว่า คดีมีมูลให้รับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา
จำเลยให้การปฏิเสธ
ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยยื่นคำแถลงว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่ได้อ้างตัวบทกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด
ศาลชั้นต้นเห็นว่าฟ้องของโจทก์อ้างแต่เลขมาตรา ไม่รู้ว่าโจทก์จะอ้างกฎหมายใดมาลงโทษจำเลย จึงเป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้องและการที่จะสั่งให้แก้ฟ้องหรือไม่ประทับฟ้องก็ล่วงเลยเวลามาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีากขอให้สั่งให้โจทก์แก้ไขฟ้องหรือไม่ก็ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
ศาลฎีกาเห็นว่า หน้าฟ้องของโจทก์ก็เขียนข้อหาว่า ผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้เช็ค คำฟ้องก็บรรยายโดยชัดแจ้งว่าจำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงินโดยมีเจตนาจะมีให้มีการใช้เงินตามเช็ค และตอนท้ายฟ้องก็เขียนว่าขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติความผิดอันว่าด้วยการใช้เช็คตามมาตรา ๓(๑)(๓)(๕) แต่เนื่องจากพิมพ์ผิดที่ โจทก์จึงขีดฆ่าออก แล้วไปพิมพ์ให้ถูกที่ในตอนพิมพ์ใหม่นี้เองน่าจะเนื่องจากความพลั้งเผลอ โจทก์จึงมิได้พิมพ์คำว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คลงไปด้วย และข้อควมที่ขีดฆ่าดังกล่าวแล้วก็ยังอ่านได้โดยชัดแจ้งเห็นว่า ฟ้องของโจทก์ทุกส่วนถูกต้องตามกฎหมายแล้ว คงขาดแต่มิได้พิมพ์หรือเขียนคำว่า “พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๔๙๗” ลงข้างหน้ามาตราตามคำขอท้ายฟ้องเท่านั้น หากสั่งให้โจทก์ทำเสียให้ครบบริบูรณ์ ก็ไม่ทำให้จำเลยเสียหายในการดำเนินคดีหรือต่อสู้คดีตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๒๑/๒๕๐๓
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ใช้โจทก์จัดการแก้ไขคำขอท้ายฟ้อง+ให้ครบบริบูรณ์ แล้วให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป