คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 841/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมีหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบทั่วไปในธุระกิจและควบคุมบังคับบัญชาพนักงานของธนาคารออมสินสาขาบังอาจปลอมใบถอนเงินของผู้ฝากแล้วกรอกจำนวนเงินนำไปเบิกต่อธนาคารออมสินที่จำเลยเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วเบียดบังยักยอกไว้เป็นของตนโดยทุจริตนั้นถือว่าเป็นความผิดที่จำเลยได้กระทำในฐานะเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองมีตำแหน่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ธนาคารออมสินสาขาอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการ จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานเงินได้ร่วมสมคบกันกระทำความผิดปลอมใบถอนเงินออมสินของผู้ฝากแล้วใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริตกรอกจำนวนเงินถอนตามใบถอนเงินที่จำเลยทำปลอมขึ้นนำมาเบิกเงินต่อธนาคารแล้วเบียดบังยักยอกไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัว ขอให้ลงโทษ

จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยที่ 1 ผิดฐานปลอมหนังสือ จำเลยที่ 1 และ 2 ผิดฐานยักยอกพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 รวม 18 กระทง 9 ปี จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 รวม 7 กระทง 7 ปี และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 รวม 13 กระทง เป็นโทษจำคุกคนละ 65 ปี เรียงทุกกระทงความผิดแล้วคงจำคุกคนละ 20 ปี ปราณีลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งคงจำคุก 10 ปี ลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสามคงจำคุก 13 ปี 4 เดือนกับให้ร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 112,430 บาทแก่ธนาคารออมสิน

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์ ปล่อยจำเลยที่ 2 พ้นข้อหา

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ฎีกาขอลดหย่อนโทษ

ศาลฎีกาเห็นว่า ธนาคารออมสินมีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นธนาคารของรัฐบาลมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่จังหวัดพระนคร มีสาขาแห่งหนึ่งอยู่ที่อำเภอหลังสวน ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมีหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบทั่วไปในธุรกิจและควบคุมบังคับบัญชาพนักงานในสำนักงานสาขานั้น ตลอดถึงรักษาทรัพย์สินของธนาคาร และเป็นผู้อนุมัติให้รับฝากและให้ถอนเงินออมสินทุกประเภททั้งรายรับและรายจ่ายอื่น ๆ

ในเดือนมีนาคม 2504 ความปรากฏขึ้นว่า ยอดเงินในสมุดคู่บัญชีของผู้ฝากเงินหลายรายของธนาคารออมสินสาขาหลังสวนไม่ตรงกับที่ปรากฏในบัตรคู่บัญชี ผู้จัดการธนาคารออมสินภาค 6 จึงได้แจ้งให้ผู้ฝากเงินแจ้งยอดเงินคงเหลือในสมุดคู่บัญชีของผู้ฝาก ในที่สุดก็พบว่าผู้ฝากเงิน 10 รายที่มิได้ขอถอนเงินฝากหรือถอนจำนวนน้อยกว่าแต่ตามหลักฐานในบัตรคู่บัญชีแสดงว่าผู้ฝากเงินได้ขอถอนเงินไปแล้วทั้งนี้ โดยการปลอมลายมือชื่อของผู้ฝากเงิน แล้วเบิกเงินนั้นจากธนาคารไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย ในการทุจริตทำให้ธนาคารออมสินเสียหายนี้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการและผู้รับผิดชอบทั่วไปให้การรับสารภาพตลอดข้อหา คดีฟังได้ว่ากระทำผิดดังฟ้องแล้วที่จำเลยที่ 1ขอลดหย่อนผ่อนโทษนั้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 เป็นการทรยศความไว้วางใจของธนาคารออมสิน กระทำการทุจริตอันมีเล่ห์เหลี่ยมหลายครั้งหลายคราว รวมเป็นเงินหนึ่งแสนบาท ไม่มีเหตุที่จะบรรเทาลดโทษให้ได้

พิพากษายืน ให้ยกฎีกาโจทก์และฎีกาจำเลยที่ 1

Share