คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1902/2494

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามมาตรา 41 หญิงมีสามีจะทำการผูกพันถึงสินบริคณห์ได้ก็แต่เฉพาะที่เป็นส่วนของตนเท่านั้น ฉะนั้นถ้าหนี้ที่หญิงมีสามีก่อขึ้น ไม่เป็นหนี้ร่วมตามที่ระบุไว้ในป.ม.แพ่งฯมาตรา 1482 แล้ว เจ้าหนี้ของหญิงมีสามีจะยึดสินบริคณห์มาชำระหนี้ตนไม่ได้ จำต้องร้องขอแยกสินบริคณห์ออกเป็นส่วนของหญิงมีสามีก่อน เพื่อเอาชำระหนี้แก่ตน

ย่อยาว

คดีนี้ เนื่องจากโจทก์นำยึดตู้และโต๊ะอ้างว่าเป็นของนางเยียกเจ็งจำเลย ผู้แพ้คดีโจทก์
นายฮกนิ้มยื่นคำร้องว่าทรัพย์ที่ยึดเป็นของผู้ร้อง จำเลยเป็นภรรยา หนี้สินรายนี้ไม่ผูกพันสินบริคณห์ ขอให้ถอนการยึด
ศาลชั้นต้นเห็นว่า การร้องขัดทรัพย์ตาม ป.ม.วิ.แพ่งมาตรา ๒๘๘ ต้องเป็นกรณีที่อ้างว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่ยึด แต่ผู้ร้องกับจำเลยเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ถูกยึดร่วมกัน จึงจะร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ไม่ได้ จึงสั่งให้ยกคำร้องขัดทรัพย์
ผู้ร้องขัดทรัพย์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เมื่อทรัพย์ที่ยึดเป็นสินบริคณห์ หน้าที่โจทก์ต้องร้องขอให้แยกสินบริคณห์ออกเป็นส่วนของจำเลยตามมาตรา ๑๔๘๓ แต่โจทก์มิได้ร้องขอให้แยกเป็นแต่แถลงไว้เท่านั้น จึงพิพากษากลับ ให้ถอนการยึด
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จะถือว่าผู้ร้องอนุญาตให้จำเลยผู้เป็นภรรยาทำการค้าขายโดยปริยาย ผู้ร้องต้องรับผิดร่วมด้วยนั้นตามป.ม.แพ่งฯมาตรา ๔๑ ก็บัญญัติไว้แต่เพียงให้รับผิดในสินบริคณห์เฉพาะที่เป็นส่วนของหญิงเท่านั้น ไม่มีความแห่งใดว่า ให้ผูกพันสินบริคณห์ทั้งหมด ทั้งหนี้ที่จำเลยก่อขึ้นนี้ ไม่ต้องด้วยลักษณะที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๔๘๒ ซึ่งจะถือว่าเป็นหนี้ร่วมที่สามีจะต้องรับผิดด้วย ฉะนั้นเมื่อทรัพย์ที่ยึดเป็นสินบริคณห์ โจทก์ก็ต้องร้องขอให้แยกสินบริคณห์ออกเป็นส่วนของจำเลยก่อน เพื่อชำระหนี้โจทก์
จึงให้ยกฎีกา โดยพิพากษายืน

Share