คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19016/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งมิใช่ความผิดต่อส่วนตัว แม้จำเลยจะยินยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วม ก็หาทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปไม่
ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม อำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่แบ่งตามประเภทคดีคงมีแต่เฉพาะในศาลชั้นต้นเท่านั้น ส่วนในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคซึ่งมีเขตอำนาจย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในศาลชั้นต้นในเขตอำนาจทุกประเภททั้งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงและศาลจังหวัดที่อุทธรณ์มาได้ เมื่อคดีนี้อยู่ในเขตจังหวัดสมุทรปราการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีเขตอำนาจศาล ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ให้จำเลยคืนบัตรเติมเงินโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่จำเลยยักยอกไปหรือชดใช้เงินจำนวน 381,500 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาบริษัทซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์โดยอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 1 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11) วรรคแรก ลงโทษจำคุก 2 ปี ให้จำเลยคืนบัตรเติมเงินโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ลักไปหรือใช้ราคาเป็นเงิน 381,500 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีนายวิโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กรของโจทก์ร่วม มาเป็นพยานเบิกความได้ความว่า เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2546 จำเลยได้รับบัตรเติมเงินโทรศัพท์ เคลื่อนที่จากบริษัทดิจิตอลโฟน จำกัด มีมูลค่าสี่ล้านบาทเศษไว้ในความดูแลรักษา โดยจำเลยลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานตามใบแจ้งหนี้ เป็นบัตรเติมเงินราคา 300 บาท 500 บาท และ 800 บาท จำนวน 11,720 ใบ 1,630 ใบ และ 840 ใบตามลำดับ จำเลยมีหน้าที่ดูแลจัดเก็บบัตรเติมเงินดังกล่าวไว้ในตู้เซฟและห้องจัดเก็บ จำเลยเป็นผู้รักษาทั้งกุญแจตู้และกุญแจห้องโดยหน้าที่เมื่อจำเลยรับบัตรเติมเงินมาแล้ว จำเลยต้องนำเอกสาร ไปแจ้งฝ่ายข้อมูลของโจทก์ร่วม จัดพิมพ์ใบรับสินค้าของสาขาโจทก์ร่วมเพื่อจะจำแนกจ่ายบัตรเติมเงินโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้แก่สาขาต่าง ๆ ของโจทก์ร่วม ปรากฏตามใบรับสินค้าหรือ GRN จากนั้นจำเลยจะนำเอกสารไปจำแนกบัตรเติมเงินโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อจัดส่งให้แก่สาขาต่าง ๆ ตามที่เอกสารดังกล่าวระบุไว้ เมื่อจำแนกเสร็จแล้ว จำเลยต้องมาจัดทำใบรับ – ส่งเอกสารระบุจำนวนบัตรเติมเงินที่จะต้องส่งไปยังสาขาต่าง ๆ ของโจทก์ร่วมและแยกจัดบัตรเติมเงินตามจำนวนที่ต้องส่งไปนั้น ตามตัวอย่างใบรับ – ส่ง เมื่อทราบว่าสาขาของโจทก์ร่วม ไม่ได้รับบัตรเติมเงินโทรศัพท์เคลื่อนที่ จึงมีการตรวจสอบเอกสารที่ส่วนกระจายสินค้า ไม่ปรากฏว่ามีการลงรายละเอียดของการส่งบัตรเติมเงินโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปยังสาขาของโจทก์ร่วม นางสาวนงค์รัตน์ ผู้ช่วยผู้จัดการสาขาเวียงตากของโจทก์ร่วม เป็นพยานเบิกความได้ความว่านางสาวนงค์รัตน์ตรวจรับสินค้าในสภาพหีบห่อปกติเรียบร้อย แต่ไม่มีบัตรเติมเงินโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามข้อมูลที่ปรากฏในคอมพิวเตอร์ และไม่พบใบรับสินค้าหรือ GRN ในกล่องสินค้า เมื่อสอบถามมายังจำเลย จำเลยแจ้งว่าอาจเกิดความผิดพลาดและจะติดตามให้ ภายหลังนางสาวนงค์รัตน์จึงแจ้งมายังนายโชคชัย ผู้จัดการศูนย์กระจายสินค้าของโจทก์ร่วมและนายอำนาจ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบสินค้าของโจทก์ร่วมมาเป็นพยานเบิกความได้ความว่า พยานทั้งสองเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลย จำเลยมีหน้าที่จัดบัตรเติมเงินส่งไปยังสาขาต่างๆ ของโจทก์ร่วม เมื่อเกิดกรณีบัตรเติมเงินของโจทก์ร่วมหายไป ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นบัตรเติมเงินที่จำเลยมีหน้าที่ดูแลรักษาและจัดส่ง ในการจัดส่งบัตรเติมเงินไม่พบใบรับสินค้าหรือ GRN ในกล่องสินค้า และไม่มีการจัดทำใบรับ – ส่งเอกสารในส่วนบัตรเติมเงินจำนวนนั้น ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องทำ เมื่อสอบถามจำเลย จำเลยไม่สามารถชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่ยอมรับผิดชอบและรับว่าจะจัดส่งบัตรไปให้ในภายหลังเอง ศาลฎีกาเห็นว่า พยานโจทก์และโจทก์ร่วมดังกล่าวเบิกความได้สอดคล้องกันอย่างสมเหตุผล ไม่ปรากฏข้อระแวงสงสัยว่าจะเบิกความกลั่นแกล้งจำเลย คำพยานมีน้ำหนักเชื่อถือได้ว่า จำเลยรับบัตรเติมเงินโทรศัพท์เคลื่อนที่ไว้ในความดูแลรักษาตามหน้าที่และไม่ส่งบัตรเติมเงินดังกล่าวไปยังสาขาของโจทก์ร่วม ทั้งไม่มีใบรับสินค้าหรือ GRN อยู่ในกล่อง แสดงให้เห็นว่า จำเลยเจตนาที่จะไม่จัดส่งบัตรเติมเงินไปยังสาขาของโจทก์ร่วม เมื่อมีการตรวจพบว่าไม่มีการส่งบัตรเติมเงิน จำเลยก็ไม่สามารถชี้แจงหรืออธิบายเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างปกติได้ ครั้นเมื่อผู้บังคับบัญชาสอบถาม จำเลยก็ยอมรับในการกระทำที่ไม่ถูกต้องของตน พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบมาชี้ชัดว่า จำเลยเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาบัตรเติมเงินโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโจทก์ร่วมแล้วจำเลยไม่จัดส่งบัตรเติมเงินดังกล่าวไปยังสาขาของโจทก์ร่วมโดยปิดบังการไม่จัดส่งบัตรดังกล่าวให้ผู้อื่นรู้ บัตรเติมเงินดังกล่าวมีราคานับแสนบาทมีมูลค่าสูงย่อมสามารถจูงใจให้นำไปหาประโยชน์ได้จำนวนมาก ฉะนั้นแม้ไม่มีประจักษ์พยาน แต่พฤติการณ์และพยานแวดล้อมกรณีดังกล่าวมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเอาบัตรเติมเงินโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโจทก์ร่วมที่จำเลยมีหน้าที่ดูแลรักษาอยู่ไปโดยทุจริต ส่วนการที่จำเลยจะนำบัตรเติมเงินออกไปจากที่ทำการของโจทก์ร่วมอย่างไร มีพนักงานของโจทก์ร่วมคนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงานของจำเลยและจำเลยมีรายได้เสริมหรือไม่ ก็ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ชดใช้ราคาค่าบัตรเติมเงินที่หายไปให้โจทก์ร่วมแล้ว จึงเป็นการที่โจทก์ร่วมประนีประนอมยอมความกับจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งมิใช่ความผิดต่อส่วนตัว แม้จำเลยจะยินยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วม ก็หาทำให้สิทธิการนำคดีอาญาของโจทก์มาฟ้องระงับไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงว่า จำเลยกระทำความผิดฐานยักยอก ซึ่งความผิดฐานดังกล่าวอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง แต่ความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัด ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงไม่มีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยแบบศาลจังหวัดและจะต้องลงโทษจำเลยในข้อหาที่ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาเท่านั้น เห็นว่า ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม อำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่แบ่งตามประเภทคดีคงมีแต่เฉพาะในศาลชั้นต้นเท่านั้น ส่วนในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งมีเขตอำนาจย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีในศาลชั้นต้นในเขตอำนาจทุกประเภททั้งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงและศาลจังหวัดที่อุทธรณ์มาได้ เมื่อคดีนี้เกิดอยู่ในเขตจังหวัดสมุทรปราการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีเขตอำนาจศาล ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวได้ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share