แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หลังเกิดเหตุผู้เสียหายแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจทันทีแล้วเจ้าพนักงานตำรวจได้ออกสกัดจับคนร้ายในเส้นทางที่คาดว่าคนร้ายจะใช้หลบหนี ก่อนจับกุมเจ้าพนักงานตำรวจรับทราบข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับรถจักยานยนต์ของคนร้ายและของผู้เสียหายจากผู้เสียหาย และเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งออกมาสกัดจับคนร้ายที่พบรถจักรยานยนต์ต้องสงสัยทั้งสองคันตามที่ได้รับแจ้งในเวลาต่อเนื่องกัน และยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายที่ร่วมกับจำเลยที่ 2 ชิงทรัพย์ผู้เสียหายแล้วขับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ชิงมาได้หลบหนีฝ่าด่านสกัดของเจ้าพนักงานตำรวจ เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมยังติดตามต่อเนื่องจนกระทั่งพบเห็นจำเลยที่ 1 วิ่งหลบหนีเข้าไปในบ้านของจำเลยที่ 1 ซึ่งตามพฤติการณ์แทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดมาแล้วสด ๆ อันถือได้ว่าเป็นความผิดซึ่งหน้าตาม ป.วิ.อ. มาตรา 80 (2) ที่เจ้าพนักงานตำรวจสามารถกระทำการจับกุมจำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องมีหมายค้นและหมายจับได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (1) และมาตรา 92 (3)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 339, 340 ตรี ริบของกลาง และให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 7,060 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83 จำคุกคนละ 15 ปี ริบของกลาง และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน จำนวน 7,060 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง มีคนร้ายสองคนร่วมกันชิงทรัพย์นางประนอม ผู้เสียหาย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ผู้เสียหายหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเบิกความเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันเป็นลำดับโดยมีรายละเอียดทั้งถ้อยคำที่พูดโต้ตอบกับจำเลยที่ 2 ตลอดจนกริยาท่าทางของจำเลยทั้งสองขณะเกิดเหตุ สอดคล้องเข้ากันกับบันทึกคำให้การของผู้เสียหาย ที่ได้ให้การไว้แก่พนักงานสอบสวนวันเกิดเหตุ เชื่อว่าผู้เสียหายเบิกความไปตามความเป็นจริง พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 มองเห็นแล้วกระชากสร้อยคอที่ผู้เสียหายใส่อยู่ ก็แสดงให้น่าเชื่อว่าขณะนั้นบริเวณที่เกิดเหตุมีแสงสว่างพอมองเห็นได้ จำเลยทั้งสองชิงทรัพย์ผู้เสียหายในระยะประชิดตัวผู้เสียหายเป็นเวลาพอสมควร โดยได้ความว่าจำเลยที่ 1 อยู่ห่างประมาณ 1 ช่วงแขน ส่วนจำเลยที่ 2 ใช้ปืนจี้ผู้เสียหายและพูดโต้ตอบกัน เชื่อว่าผู้เสียหายเห็นและจดจำใบหน้ารูปพรรณสัณฐานตลอดจนการแต่งกายของจำเลยทั้งสองได้จริง ซึ่งเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสองได้ในวันเดียวกัน พยานได้ชี้ตัวและยืนยันต่อเจ้าพนักงานตำรวจในทันทีว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนร้าย นอกจากนี้โจทก์ยังมีจ่าสิบตำรวจสมศักดิ์ เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอรัษฎา จ่าสิบตำรวจสมศักดิ์ เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอห้วยยอด ดาบตำรวจคล่อง เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอรัษฎาเบิกความว่า พยานโจทก์ทั้งสามปากเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการไปตามอำนาจหน้าที่ ขณะเกิดเหตุอยู่ต่างสถานที่กัน แต่ได้ร่วมกันสกัดจับคนร้าย จึงมีโอกาสได้เห็นจำเลยทั้งสองขณะหลบหนีต่างเวลากัน ตามคำให้การและทางนำสืบของจำเลยทั้งสองไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับพยานโจทก์ทั้งสามมาก่อน จึงไม่มีเหตุที่จะระแวงว่าพยานโจทก์ทั้งสามจะกลั่นแกล้งปรักปรำเพื่อให้จำเลยทั้งสองต้องรับโทษในความผิดอาญาร้ายแรง ทั้งการที่จ่าสิบตำรวจสมศักดิ์ ใช้วิทยุสื่อสารแจ้งบอกชื่อจำเลยที่ 1 ทันที หลังจากที่จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไปได้ ทำให้เชื่อว่าพยานเห็นจำเลยที่ 1 ขณะนั้นและจดจำได้จริง แม้พยานโจทก์ทั้งสามจะไม่เห็นขณะจำเลยทั้งสองลงมือชิงทรัพย์ผู้เสียหาย แต่หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจเร่งระดมกำลังรีบติดตามสกัดจับคนร้ายตามเส้นทางถนนที่ผู้เสียหายแจ้งว่าเห็นคนร้ายขับรถจักรยานยนต์หลบหนี โดยระบุแจ้งลักษณะตลอดจนทะเบียนรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายทางวิทยุสื่อสารจนสามารถจับกุมจำเลยทั้งสองได้หลังเกิดเหตุเพียงไม่กี่ชั่วโมง จากนั้นก็จัดให้ผู้เสียหายชี้ตัวในวันเดียวกัน ผู้เสียหายชี้ยืนยันทันทีว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายที่ร่วมกันชิงทรัพย์ ส่วนจ่าสิบตำรวจสมศักดิ์ ก็ได้ชี้ตัวจำเลยที่ 1 ยืนยันว่า เป็นคนร้ายที่เห็นขับรถจักรยานยนต์หลบหนีการจับกุมอันเป็นเหตุการณ์ใกล้ชิดติดพันต่อเนื่องกัน ที่จำเลยทั้งสองนำสืบต่อสู้อ้างฐานที่อยู่ โดยจำเลยที่ 1 เบิกความอ้างว่า ขณะเกิดเหตุอยู่ที่บ้าน โดยมีนางโสภิญญ์ นายประเสริฐ และนายอดิสร มาเบิกความสนับสนุนนั้น นางโสภิญญ์กับ นายประเสริฐเป็นมารดาและบิดาเลี้ยงของจำเลยที่ 1 จึงอาจเบิกความช่วยเหลือกัน ส่วนนายอดิสรแม้จะเป็นบุคคลภายนอก แต่ก็เบิกความเพียงว่าก่อนเกิดเหตุหนึ่งวันจำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกถมดินสร้างอาคารโรงเรียนรัษฎาที่พยานเป็นเจ้าของ เห็นชัดว่าพยานปากนี้ไม่รู้เห็นและไม่อาจยืนยันได้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 อยู่ที่ใด ส่วนจำเลยที่ 2 ต่อสู้อ้างว่าเป็นทหารกองประจำการ สังกัดค่ายเทพสตรีศรีสุนทร ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 อยู่ในค่ายนั้น คงมีเพียงจำเลยที่ 2 เบิกความลอย ๆ เพียงปากเดียว บันทึกคำให้การของจำเลยที่ 2 ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ให้การเรื่องนี้ไว้ในชั้นสอบสวน และที่เบิกความว่าเดินทางไปพบเจ้าพนักงานตำรวจที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอรัษฎาด้วยตนเองก็ขัดแย้งกับข้อความในบันทึกการจับกุมที่จำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อไว้ และในบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาที่ระบุตรงกันว่า จำเลยที่ 2 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวที่บริเวณหน้าร้านลัคกี้ ถนนเพชรเกษม ตรัง – ทุ่งสง ข้ออ้างตามทางนำสืบปฏิเสธของจำเลยทั้งสองไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักมั่นคงให้รับฟังว่า จำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายที่ร่วมกันชิงทรัพย์ผู้เสียหายตามฟ้อง ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ขณะถูกจับจำเลยที่ 1 อยู่ที่ชั้นสองของบ้านทำนองว่าไม่มีพฤติการณ์หลบหนี เจ้าพนักงานตำรวจเข้าค้นบ้านและจับกุมจำเลยที่ 1 โดยไม่มีหมายค้นและหมายจับ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ไม่หลบหนีไปภายหลังเกิดเหตุอาจเป็นเพราะจำเลยที่ 1 ไม่คาดคิดว่าผู้เสียหายจะไปแจ้งความและเจ้าพนักงานตำรวจจะสืบทราบจนสามารถติดตามจับจำเลยที่ 1 ได้อย่างรวดเร็ว หลังเกิดเหตุผู้เสียหายแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจทันทีแล้วเจ้าพนักงานตำรวจได้ออกสกัดจับคนร้ายในเส้นทางที่คาดว่าคนร้ายจะใช้หลบหนี โดยก่อนจับกุมเจ้าพนักงานตำรวจทราบข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ของคนร้ายและของผู้เสียหายจากผู้เสียหาย และจ่าสิบตำรวจสมศักดิ์ ซึ่งออกมาสกัดจับคนร้ายพบรถจักรยานยนต์ต้องสงสัยสองคันตามที่ได้รับแจ้งในเวลาต่อเนื่องกัน และยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายที่ร่วมกับจำเลยที่ 2 ชิงทรัพย์ผู้เสียหายแล้วขับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ชิงมาได้หลบหนีฝ่าด่านสกัดของเจ้าพนักงานตำรวจ เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมยังติดตามต่อเนื่องจน กระทั่งพบเห็นจำเลยที่ 1 วิ่งหลบหนีเข้าไปในบ้านของจำเลยที่ 1 ซึ่งตามพฤติการณ์แทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าจำเลยที่ 1 เพิ่งได้กระทำความผิดมาแล้วสด ๆ อันถือได้ว่าเป็นความผิดซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 80 (2) ที่เจ้าพนักงานตำรวจสามารถกระทำการจับกุม จำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องมีหมายค้นและหมายจับได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 (1) และมาตรา 92 (3) ได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน