คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15831/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่ารถยนต์กะบะราคา 840,000 บาท ขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ รถยนต์คันนี้โจทก์ร่วมชำระเงินดาวน์และเงินผ่อนไป 196,000 บาท ปัจจุบันบริษัทประกันภัยจ่ายเงินให้แก่บริษัทไฟแนนซ์ไปแล้ว ดังนี้ โจทก์ร่วมมีสิทธิเรียกร้องราคารถยนต์ที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 จำนวน 196,000 บาท ไม่ใช่ 840,000 บาท มิฉะนั้นโจทก์ร่วมย่อมได้กำไรเกินกว่าราคาที่สูญเสียไป และจำเลยทั้งสามอาจต้องชำระราคารถยนต์ซ้ำซ้อนในกรณีบริษัทประกันภัยใช้สิทธิไล่เบี้ยฟ้องคดีแพ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสาม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340, 340 ตรี, 83, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 888,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1
จำเลยทั้งสามให้การปฎิเสธ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต (ที่ถูก อนุญาตเฉพาะข้อหาปล้นทรัพย์)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83 จำคุกคนละ 21 ปี ให้จำเลยทั้งสามคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 888,000 บาท แก่โจทก์ร่วม ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่ารถยนต์กระบะราคา 840,000 บาท ขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ทั้งหมดเป็นเงิน 888,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามคืนหรือใช้ราคาทรัพย์รวมเป็นเงิน 888,000 บาท แก่โจทก์ร่วม และศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนนั้น เห็นว่า นางสาวนันทา น้องโจทก์ร่วมเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า รถยนต์คันนี้ซื้อมาด้วยเงินดาวน์ประมาณ 160,000 บาท และโจทก์ร่วมตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า โจทก์ร่วมผ่อนกับบริษัทไฟแนนซ์เดือนละ 12,000 บาท ซื้อมาได้เพียง 3 เดือน ปัจจุบันบริษัทประกันภัยจ่ายเงินให้แก่บริษัทไฟแนนซ์ไปแล้ว ดังนี้ เท่ากับโจทก์ร่วมชำระเงินค่ารถยนต์ไป 196,000 บาท โจทก์ร่วมมีสิทธิที่จะเรียกร้องราคารถยนต์ที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 จำนวน 196,000 บาท ไม่ใช่ 840,000 บาท เพราะมิฉะนั้นโจทก์ร่วมย่อมได้กำไรเกินกว่าราคาที่สูญเสียไปซึ่งไม่ถูกต้องและจำเลยทั้งสามอาจต้องชำระราคารถยนต์ซ้ำซ้อนในกรณีบริษัทประกันภัยใช้สิทธิไล่เบี้ยฟ้องคดีแพ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 244,000 บาท แก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share