แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีก่อน จำเลยได้ฟ้องขับไล่โจทก์ที่ 2 และบริวารออกจากที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาซื้อขายที่ดิน อันเป็นเอกสารฉบับเดียวกันกับที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้องขอให้เพิกถอน ต่อมาโจทก์ที่ 2 และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับที่ดินพิพาท โดยในสัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่า ภายใน 3 เดือน หากโจทก์ที่ 2 ประสงค์จะซื้อที่ดินคืน จำเลยยินยอมขายคืนให้ หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว โจทก์ที่ 2 และบริวารยินยอมขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาท สัญญาประนีประนอมได้กล่าวถึงที่ดินพิพาทแปลงเดียวกัน ซึ่งล้วนเป็นประเด็นข้อพิพาทในคดี ต้องถือว่ามีการตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีแล้ว การที่โจทก์ทั้งสองนำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทฉบับเดิมซึ่งเป็นประเด็นข้อพิพาทในคดีก่อนมาฟ้องเป็นคดีนี้อีก จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน แม้โจทก์ที่ 1 จะมิได้ถูกฟ้องในคดีก่อน แต่ไม่ว่าโจทก์ที่ 1 จะอยู่ในฐานะเป็นสามีของโจทก์ที่ 2 หรือเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม คำพิพากษาตามยอมดังกล่าวจึงผูกพันโจทก์ทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา148
ในคดีก่อน จำเลยขอให้บังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้โจทก์ที่ 2 และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท โจทก์ที่ 1 สามีของโจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอกันส่วนอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์ทั้งสอง จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นเพียงบริวารของโจทก์ที่ 2 ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบริวารของโจทก์ที่ 2 จึงมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ 1 คำร้องขอกันส่วนของโจทก์ที่ 1 ในคดีก่อนและคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 ที่ร่วมกับโจทก์ที่ 2 คดีนี้ มีประเด็นแห่งคดีทั้งสองเป็นประเด็นเดียวกัน คือ ให้วินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทหรือไม่ เมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายเป็นรายเดียวกันและศาลเคยวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีก่อนไปแล้ว คำฟ้องของโจทก์ที่ 1 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้อง ขอให้พิพากษาว่าหนังสือสัญญาขายที่ดินระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยลงวันที่ 4 มกราคม 2550 เป็นโมฆะและเพิกถอนหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าว
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 17448 ตำบลเพ็ญ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี ตามสารบัญจดทะเบียนลงวันที่ 4 มกราคม 2550 ระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลย ให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงดังกล่าวคืนแก่โจทก์ที่ 2 ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ว่า โจทก์ที่ 1 มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ว่า ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1537/2550 หมายเลขแดงที่ 1814/2550 ของศาลชั้นต้น จำเลยได้ฟ้องขับไล่โจทก์ที่ 2 และบริวารออกจากที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาซื้อขายที่ดิน ต่อมาโจทก์ที่ 2 และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับที่ดินพิพาท โดยในสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 ระบุว่า ภายในระยะเวลา 3 เดือน หากโจทก์ที่ 2 ประสงค์จะซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวคืนจากจำเลย จำเลยยินยอมขายคืนในราคา 400,000 บาท หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว โจทก์ที่ 2 และบริวารยินยอมขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาท มิฉะนั้นจะยอมชดใช้ค่าเสียหายรายเดือนแก่จำเลย และไม่ติดใจดำเนินคดีอีกต่อไป ตามสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความ เอกสารท้ายฎีกาของโจทก์ที่ 1 ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมาเมื่อโจทก์ที่ 2 ไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม จำเลยจึงขอให้บังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีตามขั้นตอนของกฎหมายโดยแจ้งให้โจทก์ที่ 2 และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ตามสำเนาประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งโจทก์ที่ 1 สามีของโจทก์ที่ 2 ได้ยื่นคำร้องขอกันส่วนอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์ทั้งสอง จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 2 โดยได้รับมรดกมาจากบิดา โจทก์ที่ 1 เป็นเพียงบริวารไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบริวารของโจทก์ที่ 2 จึงมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ 1 ตามสำเนาคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ ข.7/2551 ของศาลชั้นต้น ต่อมานอกจากโจทก์ที่ 1 จะได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวแล้ว โจทก์ทั้งสองยังได้มายื่นฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นคดีนี้อีก เห็นว่า จำเลยได้ฟ้องขับไล่โจทก์ที่ 2 และบริวารออกจากที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาซื้อขายที่ดินฉบับดังกล่าว อันเป็นเอกสารฉบับเดียวกันกับที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้องขอให้เพิกถอน อีกทั้งในสัญญาประนีประนอมยอมความได้กล่าวถึงที่ดินพิพาทแปลงเดียวกัน ซึ่งล้วนเป็นประเด็นข้อพิพาทในคดีนั้น ก็ต้องถือว่ามีการตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีแล้ว การที่โจทก์ทั้งสองนำเรื่องสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทฉบับเดิมซึ่งเป็นประเด็นข้อพิพาทให้คดีก่อนมาฟ้องเป็นคดีนี้อีก จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน แม้โจทก์ที่ 1 จะมิได้ถูกฟ้องในคดีก่อน แต่ไม่ว่าโจทก์ที่ 1 จะอยู่ในฐานะเป็นสามีของโจทก์ที่ 2 หรือเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม คำพิพากษาตามยอมดังกล่าวจึงผูกพันโจทก์ทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 วรรคแรก นอกจากนี้ในส่วนฟ้องของโจทก์ที่ 1 ยังเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ข.7/2551 ของศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 อีกด้วย เนื่องจากคำร้องของโจทก์ที่ 1 ในคดีก่อนและคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 ที่ร่วมกับโจทก์ที่ 2 คดีนี้มีประเด็นแห่งคดีทั้งสองเป็นประเด็นเดียวกัน คือ ให้วินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทหรือไม่ เมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายก็เป็นรายเดียวกัน และศาลชั้นต้นเคยวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีก่อนไปแล้ว คำฟ้องของโจทก์ที่ 1 ในคดีนี้จึงต้องห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นนั้นอีก ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำและฟ้องซ้ำด้วย โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนคำพิพากษาของศาลฎีกาที่โจทก์ที่ 1 อ้างมานั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลบางส่วน ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ